MENU

Where the world comes to study the Bible

8. เริ่มต้นพระราชกิจของพระเยซู (มัทธิว 4:12-25)

Related Media

คำนำ1

ตอนที่ผมเทศนาเรื่องนี้ เป็นวันอาทิตย์อีสเตอร์ บางคนสงสัยว่าเนื้อหาตอนนี้เกี่ยวอะไรกับอีสเตอร์ ผมจะค่อยๆอธิบายให้ฟัง บางคนแสดงความเห็นว่าพระวจนะตอนนี้ถูกประกบอยู่ระหว่างมารผจญพระเยซู และคำเทศนาบนภูเขา น่าจะนำมาเทศนาได้ เชื่อเถอะ ผมก็คิดเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อใกล้ถึงวันอาทิตย์ ความจริงคือพระวจนะตอนนี้สำคัญมาก เป็นเหมือนกุญแจไขสู่พระกิตติคุณมัทธิว และพระกิตติคุณทุกเล่ม

ถึงจุดนี้ในพระกิตติคุณมัทธิว พระเยซูยังไม่ได้สั่งสอนหรือทำการอัศจรรย์ใดๆ2 ขอกลับไปทบทวนเรื่องราวก่อนหน้าเล็กน้อยในบทที่ 1 ลำดับพงศ์พันธ์ของมัทธิวที่แสดงให้เห็นว่าพระเยซูทรงมีคุณสมบัติครบถ้วนที่ จะเป็นกษัตริย์อิสราเอล เพราะทรงเป็นทั้ง “บุตรของอับราฮัม” และเป็น “บุตรของดาวิด” (มัทธิว 1:1, 2-17) และยังแสดงให้เห็นว่า มีสตรีหลายท่านในพงศ์พันธ์พระเมสซิยาห์นี้เป็นคนต่างชาติ ตามที่มัทธิวบันทึกเรื่องกำเนิดของพระเยซู (1:18—2:12) ท่านได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับทูตสวรรค์ลงมาเป็นพยาน ในการถือกำเนิดมาอย่างบริสุทธิ์ และบรรดาโหราจารย์ต่างชาติที่เป็นพยานว่าพระเยซูคือ “กษัตริย์ของชาวยิว” (2:2)

ผมเชื่อว่าที่เหลือของบทที่ 2 (2:13-23) เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับเนื้อหาในตอนนี้ ในมัทธิว 2:13-18 ท่านบันทึกเรื่องโยเซฟพาครอบครัวหนีไปอียิปต์ และทารกผู้บริสุทธิ์ถูกสังหาร ผมถือว่าข้อเหล่านี้เป็นตัวบ่งเบื้องต้นว่าพระเยซูจะถูกปฏิเสธ ถูกต่อต้าน และที่สุดถูกฆ่าตาย ตอนท้ายของบทที่ 2 (2:19-23) เรื่องราวนั้นใกล้เคียงกัน เมื่อทูตสวรรค์สั่งให้โยเซฟพาครอบครัวกลับมาที่อิสราเอล และนำต่อไปที่นาซาเร็ธในแคว้นกาลิลี ไม่ใช่ยูเดีย มัทธิวบอกว่าคำพยากรณ์นี้สำเร็จลง คำพยากรณ์ที่บอกว่าพระเยซูจะถูกเรียกว่าเป็นชาวนาซาเร็ธ ไม่มีข้อพระคำอ้างอิงโดยตรงจากพระคัมภีร์เดิมตามมัทธิว 2:23 เราต้องนำเรื่องนี้มาคิดให้ดี เข้าใจว่านักศึกษาพระคัมภีร์เก่งๆจะตีความหมายต่างกันไป

ตัวผมเอง เอนเอียงไปตามมุมมองของเฟรเดอริค บรูเนอร์ และอีกหลายคน:

“ด้วยเหตุผลทางศาสนศาสตร์ ผมอยากพิจารณา … ถึงความเป็นไปได้ และไม่ได้นอกเหนือจากนั้น สำหรับมัทธิวคนที่มาจากนาซาเร็ธ – ชาวนาซาเร็ธ คือคนที่เหมือนไร้ตัวตน และนี่เองคือสิ่งที่พวกผู้เผยพระวจนะทำนายบ่อยครั้งว่าพระคริสต์จะถูกมองว่า มาเป็นหนึ่งในท่ามกลางเราแต่ต้น … บางคนคิดว่าชาวนาซาเร็ธได้รับพระสัญญาผ่านทางผู้เผยพระวจนะว่าจะเป็นพระเม สซิยาห์ผู้รับทุกข์ ผู้รับใช้ของพระเจ้าที่หยั่งรากลงครั้งแรกที่เบธเลเฮม ไปที่อียิปต์ และจากอียิปต์ไปสู่แผ่นดินแห้งแล้งของนาซาเร็ธ … . “เขาจะเรียกท่านว่าชาวนาซาเร็ธ” หรือแย่ที่สุดคือ “คนที่ไร้ตัวตน”3

ขอละเรื่องนี้ไว้ก่อน แล้วจะนำกลับมาใหม่เมื่อเข้าสู่เนื้อหาของบทเรียน

ในมัทธิว 3 ผู้เขียนแนะนำให้รู้จักยอห์นผู้ให้บัพติศมาและพันธกิจของท่าน และนำสู่พิธีบัพติศมาของพระเยซู ในพิธีบัพติศมานี้พระเจ้าประกาศรับรอง (ด้วยพระสุรเสียงของพระบิดา การเสด็จมาของพระวิญญาณ และคำพยานของยอห์นผู้ให้บัพติศมา) ว่าพระเยซูทรงเป็นพระเมสซิยาห์ กษัตริย์อิสราเอล และในพิธีบัพติศมาพระเยซูทรงยอมรับตามน้ำพระทัยในฐานะพระเมสซิยาห์ที่ได้รับ มอบหมาย ซึ่งจะนำพระองค์ไปจนถึงสละพระชนม์เพื่อคนบาปทั้งหลายบนกางเขน

พิธีบัพติศมาของพระเยซูและการประกาศรับรองว่าทรงเป็นพระเมสซิยาห์ ตามด้วยการนำเข้าสู่การทดลองในมัทธิว 4:1-11 ที่นั่นซาตานมาทดลองพระองค์หลัง 40 วันผ่านไป มันพยายามล่อลวงถึงสามครั้ง (ในตอนนั้น) ชัยชนะเหนือการทดลองทั้งสามครั้ง เป็นข้อพิสูจน์ว่าพระองค์ และพระองค์ผู้เดียวเท่านั้นมีคุณสมบัติในฐานะพระเมสซิยาห์ ที่จะมาทำพระราชกิจตามที่พระบิดามอบหมาย เตรียมความรอดให้แก่คนบาปผู้หลงหาย โดยพระคุณทางความเชื่อ

โครงร่างของบทเรียนตอนนี้

พระวจนะตอนนี้ประกอบด้วยสามตอน:

ข้อ 12-17 พระเยซูย้ายไปอยู่ที่กาลิลี

ข้อ 18-22 พระเยซูทรงเรียกสาวกสี่คน

ข้อ 23-25 พระเยซูทรงสั่งสอน เทศนา และรักษาโรค

จะค่อยๆอธิบายทีละตอน แต่ละตอนมีบางอย่างเหมือนกับอีกสองตอน และตัวเชื่อมนี้ทำให้เราเห็นกุญแจไขสู่พระวจนะทั้งหมดในบทเรียนนี้ และในพระกิตติคุณมัทธิวทั้งเล่ม

พระเยซูเสด็จกลับไปกาลิลี (มัทธิว 4:12-17)

12 ครั้นพระเยซูทรงทราบข่าวว่ายอห์นถูกจำไว้แล้ว พระองค์ก็เสด็จไปยังแคว้นกาลิลี 13 แล้วย้ายที่ประทับจากเมืองนาซาเร็ธไปที่เมืองคาเปอรนาอุม ซึ่งอยู่ริมทะเลสาบที่เขตเผ่าเศบูลุนและนัฟทาลี 14 เพื่อจะสำเร็จตามพระวจนะ ซึ่งตรัสไว้โดยอิสยาห์ผู้เผยพระวจนะว่า 15 แคว้นเศบูลุนและ แคว้นนัฟทาลี ทางข้างทะเลฟากแม่น้ำจอร์แดนข้างโน้น คือกาลิลี แห่งบรรดาประชาชาติ 16 ประชาชนผู้นั่งอยู่ในความมืด ได้เห็นความสว่างยิ่งใหญ่ และผู้ที่นั่งอยู่ในแดนและเงาแห่งความตาย ก็มีความสว่างขึ้นส่องถึงเขาแล้ว” 17 ตั้งแต่นั้นมา พระเยซูได้ทรงตั้งต้นประกาศว่า “จงกลับใจเสียใหม่ เพราะว่าแผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว“4

ถ้าอ่านผ่านๆจะไม่ทันสังเกตุว่าหนึ่งปีผ่านไประหว่างมัทธิว 4:11 ถึง 4:12 :

มัทธิวข้ามหลายเหตุการณ์ที่น่าจะรวบรวมไว้ จากพระราชกิจเริ่มแรกของพระเยซูในยูเดียและกาลิลี เราพบเหตุการณ์ต่างๆนี้ในยอห์น ก่อนเสด็จกลับกาลิลี (ตามที่ยอห์นบันทึก 4:43) พระเยซูพบและเรียกสาวกคนแรก ทรงเปลี่ยนน้ำเป็นเหล้าองุ่นที่คานา อาศัยอยู่ช่วงสั้นๆที่คาเปอรนาอุม กลับไปเยรูซาเล็มก่อนเทศกาลปัสกา ขับไล่พวกตั้งโต๊ะแลกเงินในพระวิหาร สนทนากับนิโคเดมัส เริ่มต้นสั่งสอนตามชนบทรอบนอกยูเดีย และได้พบกับสตรีชาวสะมาเรียที่บ่อน้ำระหว่างเดินทางขึ้นเหนืออีกครั้ง (ดูยอห์น 1:19-4:42) จุดนี้เองที่มัทธิวเริ่มบันทึกของท่าน (มัทธิว 4:12-25)… ในข้อ 11 พระเยซูทรงอยู่ในทะเลทรายใกล้จอร์แดน มัทธิวบอกแค่ว่า “ครั้นพระเยซูทรงทราบข่าวว่ายอห์นถูกจำไว้แล้ว พระองค์ก็เสด็จไปยังแคว้นกาลิลี” (ข้อ 12) น่าจะเกิดขึ้นหนึ่งปีหลังจากนั้น5

ขณะที่พระกิตติคุณยอห์นมีเรื่องตอนต้นของพระเยซูในเยรูซาเล็ม (ยอห์น 2:13-3:36) พระกิตติคุณคล้าย (มัทธิว มาระโก และลูกา) ข้ามพระราชกิจแรกในเยรูซาเล็มไป แต่บันทึกว่าทรงเริ่มพระราชกิจที่กาลิลี มัทธิวและมาระโกเจาะจงว่าพระเยซูเสด็จออกจากยูเดียไปกาลิลีหลังจากยอห์นผู้ ให้บัพติศมาถูกจับ การจับกุมของยอห์นจึงเป็นจุดหักเหในพระราชกิจของพระองค์

ผมค่อนข้างเห็นด้วยกับหลายคนที่แปลไปในทางว่าพระเยซูทรง “ถอนตัวกลับ” เข้าไปในกาลิลี อาจจะผิดที่ไปสรุปว่าพระเยซูเหมือนไปหลบซ่อนเพราะกลัว แต่อีกเหตุผล เฮโรดปกครองอยู่เหนือกาลิลีและยูเดีย ดังนั้นพระองค์ก็ไม่ได้กำลังหนีจากเฮโรด และมีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าพระองค์ไม่ได้คิดจะปิดบังพระองค์ในกาลิลี เสด็จไปทั่ว ทำพระราชกิจท่ามกลางผู้คน และดึงดูดฝูงชนจำนวนมากให้ติดตามพระองค์ไป6

ข้อสงสัยแรกที่ว่าทำไมพระเยซูเสด็จไปที่กาลิลี ผมชอบวิธีที่บรูเนอร์อธิบายไว้:

“ดังนั้นเมื่อพระเยซู-ถอนตัวกลับไปกาลิลี- พระองค์ทำมากกว่าเดินทางขึ้นเหนือ แต่เหมือนไปผิดทาง”7

อย่างที่เพื่อนผมคนหนึ่งพูด “เมื่อพระเยซูเสด็จขึ้นเหนือ ในมุมมองอื่นๆเหมือนพระองค์เสด็จลงใต้” (หลงทิศ)

เราต้องเตือนตัวเองเกี่ยวกับกาลิลี เพื่อจะเข้าใจว่าทำไมการเสด็จไปกาลิลีของพระเยซูถึงเป็นเรื่องแปลก กาลิลีอยู่ทางเหนือของยูเดีย เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่ถูกจ่ายชดเชยให้กษัตริย์ฮีรามแห่งไทเรที่ช่วยซา โลมอนสร้างพระวิหาร ซาโลมอนมอบ 20 เมืองในกาลิลีให้กษัตริย์ฮีราม ที่น่าสนใจคือคำตอบของฮีราม:

11 และเมื่อฮีรามกษัตริย์เมืองไทระได้ส่งไม้สนสีดาร์ และไม้สนสามใบและทองคำให้แก่ซาโลมอนตาม ที่พระองค์มีพระประสงค์ แล้วพระราชาซาโลมอนก็ทรงประทานหัวเมือง ในแผ่นดินกาลิลีให้แก่ฮีรามยี่สิบหัวเมือง 12 แต่เมื่อฮีรามเสด็จจากเมืองไทระเพื่อชม หัวเมืองซึ่งซาโลมอนประทานแก่ท่าน หัวเมืองเหล่านั้นไม่เป็นที่พอพระทัยท่าน (1พงศ์กษัตริย์ 9:11-12)

เมื่ออาณาจักรถูกแบ่งออกเป็นสองในช่วงการปกครองของเรโหโบอัม กาลิลีกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรตอนเหนือของอิสราเอล อาณาจักรใต้คือยูดาห์ ปกครองสืบต่อกันโดยราชวงศ์ดาวิด อาณาจักรเหนือ ภายใต้การปกครองของเยโรโบอัมและกษัตริย์องค์ต่อๆมามีแต่ความชั่วร้าย หันไปนมัสการพระเทียมเท็จ ยูดาห์เองก็ไม่ได้ดีไปกว่า แม้มีกษัตริย์บางองค์ที่ยังนับถือพระเจ้า เมื่ออาณาจักรทั้งสองเสื่อมทรามลง พระเจ้าทรงเตือนถึงวันพิพากษาที่กำลังจะมา วันที่พระองค์จะใช้อัสซีเรียเป็นเครื่องมือในการพิพากษา และคนในอาณาจักรเหนือจะถูกจับไปเป็นเชลย อัสซีเรียจะมาข่มขู่ยูดาห์และเยรูซาเล็ม แต่ไม่อาจจัดการกับเมืองนี้ได้:

1 แล้วพระเจ้าตรัสกับข้าพเจ้าว่า “จงเอาแผ่นใหญ่สำหรับเขียนมาแผ่นหนึ่ง และจงเขียนอักษรง่ายๆลงว่า ‘มาเฮอร์ชาลาลหัชบัส'” 2 และข้าพเจ้าได้พยานที่เชื่อถือได้ คือ อุรีอาห์ปุโรหิตและเศคาริยาห์บุตรของเยเบเรคียาห์ ให้เป็นพยานเพื่อข้าพเจ้า 3 และข้าพเจ้าได้เข้าไปหาหญิงผู้เผยพระวจนะ และเธอก็ตั้งครรภ์และ คลอดบุตรชายคนหนึ่ง และพระเจ้าตรัสกับข้าพเจ้าว่า “จงเรียกชื่อบุตรนั้นว่า มาเฮอร์ชาลาลหัชบัส 4 เพราะก่อนที่เด็กจะร้องเรียก “พ่อ แม่” ได้ทรัพย์สมบัติของดามัสกัสและของที่ริบได้จาก สะมาเรียจะถูกขนเอาไปต่อพระพักตร์พระราชาอัสซีเรีย” 5 แล้วพระเจ้าตรัสกับข้าพเจ้าอีกว่า 6 “เพราะว่าชนชาตินี้ได้ปฏิเสธน้ำแห่งชิโลอาห์ซึ่งไหลเอื่อยๆ และปีติยินดีต่อเรซีนและโอรสของเรมาลิยาห์ 7 เพราะฉะนั้น ดูเถิด องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงนำน้ำแห่งแม่น้ำ ยูเฟรติสมาสู้เขาทั้งหลาย ที่มีกำลังและมากหลายคือพระราชา แห่งอัสซีเรียและพระสิริของพระองค์ และน้ำนั้นจะไหลล้นห้วยทั้งสิ้นของมัน และท่วมฝั่งทั้งสิ้นของมัน 8 และจะกวาดต่อไปเข้าในยูดาห์ และจะไหลท่วมและผ่านไปแม้จนถึงคอ และปีกอันแผ่กว้างของมันจะเต็มแผ่นดินของท่านนะ ท่านอิมมานูเอล” (อิสยาห์ 8:1-8)

ทิกลัทปิเลเสอร์ กษัตริย์แห่งอัสซีเรียทำในสิ่งที่พระเจ้าได้เตือนไว้ (ดู 2พงศ์กษัตริย์ 15:29) เมื่ออัสซีเรียเข้าไปรุกรานอาณาจักรเหนือ พวกเขาจับเอาผู้คนที่นั่นไปอัสซีเรีย ต่อมา แชลมาเนเสอร์ กษัตริย์แห่งอัสซีเรีย ยกทัพมารบกับอิสราเอลอีก และจับชาวอิสราเอลไปเป็นเชลยในอัสซีเรีย (2พงศ์กษัตริย์ 17:1-6) อัสซีเรียนำคนจากดินแดนอื่นๆเข้ามาอยู่ในอาณาจักรเหนือแทน (2พงศ์กษัตริย์ 17:24) ดังนั้นอาณาจักรเหนือ (รวมกาลิลีด้วย) ก็ถูกปะปนจนสายเลือดยิวจางลง (คนยูดาห์คงอยากเรียกว่าแผ่นดินที่ปนเปื้อน) ทั้งศีลธรรมและจิตวิญญาณ เมื่อเวลาผ่านไปจำนวนพลเมืองในอาณาจักรเหนือเพิ่มมากขึ้น ถึงอย่างไร สำหรับชาวยิวในยูดาห์และในเยรูซาเล็ม มองกาลิลีว่าเป็นเมืองที่ไม่มีสถานภาพ อย่างที่บรูเนอร์ให้ความเห็นไว้

“กาลิลีเป็นสถานที่แปลกสำหรับทำพระราชกิจของพระเมสซิยาห์ ไม่มีบทบัญญัติยิวใดอ้างถึงการเสด็จไป หรือทำพระราชกิจที่กาลิลี ทำเลของกาลิลีไม่เพียงแต่ห่างไกลจากเยรูซาเล็ม ยังถูกมองว่าจิตวิญญาณและการปกครองก็ห่างไกลด้วย กาลิลีจึงเป็นเหมือนเมืองต่างชาติของชาวยิว ตั้งอยู่ทางเหนือสุดของเขตปาเลสไตน์ ห่างจากซิโยนไม่ใช่แค่ทางภูมิประเทศเท่านั้น ชาวกาลิลียังถูกคนยูดาห์มองว่าการทำตามบทบัญญัติก็หลวมๆ และไม่ได้บริสุทธิ์ตามพระคัมภีร์เหมือนพวกเขาที่อยู่ใกล้เยรูซาเล็ม ในที่สุดกาลิลีก็ฉาวโฉ่จากการเป็นรังของพวกก่อกบฎ และเป็นที่ซ่องสุมพวกคลั่งลัทธิรุนแรง ไม่กี่ปีก่อนกำเนิดของพระเยซู เสโฟริส เมืองหลวงของกาลิลี เกิดจลาจลโดยการนำของยูดาสแห่งกาลิลี ต่อต้านการปกครองของโรมและนำกาลิลีเข้าสู่ความพ่ายแพ้ ทำให้คนของพระเจ้าหลายคนต้องอับอาย8

มัทธิวค่อยๆเผยให้ผู้อ่านรู้ว่าพระเยซูเสด็จออกจากนาซาเร็ธและไปอยู่ที่คาเปอรนาอุม “แคว้นเศบูลุนและแคว้นนัฟทาลี” (มัท ธิว 4:12) และเพราะเป็นฐานที่ตั้งของพระองค์ จึงมีการอัศจรรย์หลายอย่างเกิดขึ้นที่นั่น รวมถึงการรักษาบ่าวของนายร้อยที่เจ็บป่วย (มัทธิว 8:5-13) และแม่ยายของซีโมน (มัทธิว 8:14-17) ทรงขับผีโสโครกจากชายคนหนึ่ง (มาระโก 1:23-28) และทรงรักษาคนง่อยที่ถูกหย่อนมาทางหลังคา (มาระโก 2:1-12) ไม่น่าประหลาดใจถ้าพระเยซูจะพูดว่าคาเปอรนาอุมน่าจะถูกสาปแช่งมากกว่านี้:

23 และฝ่ายเจ้าเมืองคาเปอรนาอุม เจ้าจะถูกยกขึ้นเทียมฟ้าหรือ มิได้ เจ้าจะต้องลงไปถึงแดนคนตายต่างหาก ด้วยว่าการมหัศจรรย์ซึ่งได้กระทำในท่ามกลางเจ้านั้น ถ้าได้กระทำในเมืองโสโดม เมืองนั้นคงได้ตั้งอยู่จนทุกวันนี้ 24 แต่เราบอกเจ้าว่าในวันพิพากษา โทษเมืองโสโดมจะเบากว่าโทษของเจ้า” (มัทธิว 11:23-24)

คาเปอรนาอุมอาจมีกองกำลังทหารรักษาการของตนเอง มีสำนักงานเก็บภาษี ตรงที่มัทธิวนั่งทำงาน (มัทธิว 9:1, 9) แต่ยากที่จะคิดได้ว่าเมืองแบบนี้จะเป็นฐานทำการของพระเมสซิยาห์:

เรารู้เรื่องคาเปอรนาอุมน้อยมาก แต่มัทธิวบอกเราว่าพื้นที่อยู่ติดชายทะเลในแคว้นเศบูลุนและนัฟทาลี (สองเผ่านี้ถูกเอ่ยถึงอีกในพระคัมภีร์ใหม่ในข้อ 15 และในวิวรณ์ 7:6-8) ชื่อคาเปอรนาอุมแปลว่า “หมู่บ้านของนาฮูม” แต่ก็ไม่ได้ช่วยมากนัก เพราะเราไม่รู้ว่านาฮูมคนนี้คือใคร เป็นที่ยอมรับกันว่าที่ตั้งของเมืองที่รู้จักกันในชื่อ “เทลฮูม” นี้อยู่ทางมุมตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลกาลิลี ขนาดกำลังพอดี (เจ พี เคนบอกว่าพื้นที่ตรงนั้นน่าจะประมาน 800 X 250 ไมล์) แต่ไม่ใช่เป็นเมืองที่ใหญ่นัก และข้อมูลนอกเหนือจากพระคัมภีร์มีน้อยมาก ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด พระเยซูทรงตั้งคาเปอรนาอุมเป็นศูนย์กลางการทำพระราชกิจของพระองค์ แทนที่จะเป็นในพื้นบ้านของพระองค์เอง เจ บี สรุปว่า ทรง “อาศัยในคาเปอรนาอุม”(9:1)9

มีอะไรสำคัญเกี่ยวกับคาเปอรนาอุมและกาลิลีที่ทำให้มัทธิวบันทึกเรื่อง สถานที่นี้ไว้ให้เรา? มัทธิวต้องการให้ผู้อ่านรู้ว่าที่พระเยซูเสด็จกลับไปกาลิลีไม่ใช่เรื่องผิด ที่จริง เป็นการทำให้คำพยากรณ์สำเร็จลง เป็นอีกข้อที่พิสูจน์ว่าพระเยซูเป็นพระเมสซิยาห์ตามพระสัญญา

1 เมืองนั้นซึ่งอยู่ในความแสนระทมจะไม่กลัดกลุ้ม ในกาลก่อนพระองค์ทรงนำแคว้นเศบูลุนและแคว้น นัฟทาลีมาสู่ความดูหมิ่น แต่ในกาลภายหลังพระองค์จะทรงกระทำให้หนทางข้างทะเล แคว้นฟากตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน คือ กาลิลี แห่งบรรดาประชาชาติ ให้รุ่งโรจน์ 2 ชนชาติที่ดำเนินในความมืด จะได้เห็นความสว่างยิ่งใหญ่ บรรดาผู้ที่อาศัยอยู่ในแผ่นดิน แห่งเงามัจจุราช สว่างจะได้ส่องมาบนเขา (อิสยาห์ 9:1-2)

จากต้นฉบับที่ถ่ายทอดจากภาษากรีกและฮีบรู มัทธิวอ้างสองข้อแรกของอิสยาห์ 9 ในบทที่ 8 อิสยาห์เตือนถึงการบุกรุกจากอัสซีเรียที่กำลังจะเกิดขึ้น จะเข้ามาทำลายอาณาจักรเหนือและคุกคามยูดาห์ และในบทที่ 9 อิสยาห์พูดถึงวันแห่งความรอดและการช่วยกู้ที่กำลังจะมาถึง ขณะการช่วยกู้ที่จะเกิดขึ้นในทันทีคือการกลับคืนสู่แผ่นดินอิสราเอล มัทธิวมองเห็นการช่วยกู้สูงสุดคือการเสด็จมาของพระเมสซิยาห์ มัทธิวผู้เดียวเท่านั้นที่ชี้ให้เห็นว่าการเสด็จไปกาลิลีทำให้คำพยากรณ์ สำเร็จเป็นจริง และน่าสนใจที อาร์ จี วี แทสเกอร์ชี้ให้เห็นว่า

“คำว่า – หนทางข้างทะเล (มุ่งไปเมดิเตอเรเนียน) และข้ามไปที่จอร์แดน – (ฝั่งตะวันตกของจอร์แดน) อธิบายถึงพื้นที่จากมุมมองของอัสซีเรียผู้รุกราน10

ขณะที่อัสซีเรีย (ตามด้วยบาบิโลน) เข้ามารุกรานและทำลายอาณาจักรเหนือ เพื่อจะมุ่งไปที่ยูดาห์ พระเยซูจึงเริ่มพระราชกิจในการกอบกู้กาลิลีเป็นที่แรก และต่อมาที่ยูดาห์ ตามที่มัทธิวอ้างจากอิสยาห์ 9 ชี้ให้เห็นว่าท่านเชื่อว่าผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ (อาจทำนายอย่างไม่รู้ตัว) ว่าเป็นแผนทางภูมิศาสตร์ที่พระเยซูเสด็จมาเพื่อช่วยประชากรของพระองค์11

พระเยซูทรงเรียกสาวกทั้งสี่ (มัทธิว 4:18-22)

18 ขณะที่พระองค์ทรงดำเนินอยู่ตามชายทะเลกาลิลี ก็ทอดพระเนตรเห็นพี่น้องชาวประมงสองคน คือซีโมนที่เรียกว่าเปโตร กับอันดรูว์น้องชาย กำลังทอดแหอยู่ที่ทะเลสาบ 19 พระองค์ตรัสกับเขาว่า “จงตามเรามาเถิด และเราจะตั้งท่านให้เป็นผู้หาคนดั่งหาปลา” 20 เขาทั้งสองได้ละแห12ตามพระองค์ไปทันที 21 ครั้นพระองค์เสด็จต่อไป ก็ทอดพระเนตรเห็นพี่น้องอีกสองคน ชื่อยากอบ บุตรเศเบดี กับยอห์นน้องชายของเขากำลังชุนอวนอยู่ในเรือกับเศเบดีบิดาของเขา พระองค์ได้ทรงเรียกเขา 22 ในทันใดนั้น เขาทั้งสองก็ละเรือและลาบิดาของเขาตามพระองค์ไป

นักศึกษาพระคัมภีร์ใหม่จะรู้ได้ทันทีว่ามีการ “ทรงเรียก” สาวกหลายครั้ง และใช้เวลาอยู่ช่วงหนึ่ง การทรงเรียกครั้งแรกอยู่ในยอห์น 1:

35 รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งยอห์นกำลังยืนอยู่กับสาวกของท่านสองคน 36 และท่านมองดูพระเยซูขณะที่พระองค์ทรงดำเนินและกล่าวว่า “จงดูพระเมษโปดกของพระเจ้า” 37 สาวกสองคนนั้นได้ยินท่านพูดเช่นนี้ เขาจึงติดตามพระเยซูไป 38 พระเยซูทรงเหลียวกลับมาและเห็นเขาตามพระองค์ไป จึงตรัสถามเขาว่า “ท่านหาอะไร” และเขาทั้งสองทูลพระองค์ว่า “รับบี (ซึ่งแปลว่าอาจารย์) ท่านอยู่ที่ไหน” 39 พระองค์ตรัสตอบเขาว่า “มาดูเถิด” เขาก็ไปและเห็นที่ซึ่งพระองค์ทรงพำนัก และวันนั้นเขาก็ได้พักอยู่กับพระองค์ เพราะขณะนั้นประมาณสี่โมงเย็นแล้ว 40 คนหนึ่งในสองคนที่ได้ยินยอห์นพูดและได้ติดตามพระองค์ไปนั้น คืออันดรูว์น้องชายของซีโมนเปโตร 41 แล้วอันดรูว์ก็ไปหาซีโมนพี่ชายของตนก่อน และบอกเขาว่า “เราได้พบ พระเมสสิยาห์แล้ว” (ซึ่งแปลว่าพระคริสต์) 42 อันดรูว์จึงพาซีโมนไปเฝ้าพระเยซู พระเยซูทรงทอดพระเนตรเขาแล้วจึงตรัสว่า “ท่านคือซีโมนบุตรยอห์นซีนะ เขาจะเรียกท่านว่าเคฟาส” (ซึ่งแปลว่าศิลา) 43 รุ่งขึ้นพระเยซูตั้งพระทัยจะเสด็จไปยังแคว้นกาลิลี พระองค์ทรงพบฟีลิปจึงตรัสกับเขาว่า “จงตามเรามา” 44 ฟีลิปมาจากเบธไซดาเมืองของอันดรูว์และเปโตร 45 ฟีลิปไปหานาธานาเอลบอกเขาว่า “เราได้พบพระองค์ผู้ที่โมเสสได้กล่าวถึงในหนังสือธรรมบัญญัติ และที่พวกผู้เผยพระวจนะได้กล่าวถึง คือ พระเยซู ชาวนาซาเร็ธบุตรโยเซฟ” 46 นาธานาเอลถามเขาว่า “สิ่งดีอันใดจะมาจากนาซาเร็ธได้หรือ” ฟีลิปตอบว่า “มาดูเถิด” 47 พระเยซูทรงเห็นนาธานาเอลมาหา พระองค์จึงตรัสถึงเรื่องของตัวเขาว่า “ดูเถิด ชนอิสราเอลแท้ ในตัวเขาไม่มีอุบาย” 48 นาธานาเอลทูลถามพระองค์ว่า “พระองค์ทรงรู้จักข้าพระองค์ได้อย่างไร” พระเยซูตรัสตอบเขาว่า “ก่อนที่ฟีลิปจะเรียกท่าน เมื่อท่านอยู่ที่ใต้ต้นมะเดื่อนั้น เราเห็นท่าน” 49 นาธานาเอลทูลตอบพระองค์ว่า “รับบี พระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้า พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ของชนชาติอิสราเอล” 50 พระเยซูตรัสตอบเขาว่า “เพราะเราบอกท่านว่า เราเห็นท่านอยู่ใต้ต้นมะเดื่อนั้นท่านจึงเชื่อหรือ ท่านจะได้เห็นเหตุการณ์ใหญ่กว่านั้นอีก” 51 และพระองค์ตรัสกับเขาว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านจะได้เห็นท้องฟ้าเบิกออก และบรรดาทูตสวรรค์ของพระเจ้าขึ้นและลงอยู่เหนือบุตรมนุษย์”

ดูเหมือนหลังจากพระเยซูรับบัพติศมาได้ไม่นาน สาวกสองคนของพระองค์ (หนึ่งในนั้นที่เรารู้คืออันดรูว์13 – ดูข้อ 40) ละจากยอห์นมาตามพระเยซู ทั้งสองติดตามพระเยซูไปในวันนั้น (ข้อ 39) อันดรูว์ไปตามพี่ชายคือเปโตรมา ฟีลิปก็มาด้วย และไปตามนาธานาเอลมา การทรงเรียกที่มัทธิวอธิบายใน 4:18-22 เกิดขึ้นหลังจากนี้ บางทีอาจเกี่ยวข้องกับการทรงเรียกในลูกา 5:1-11 การทรงเรียกของมัทธิวเกี่ยวข้องกับสาวกสี่คน เป็นคู่สองพี่น้อง – ซีโมนและอันดรูว์ (มัทธิว 4:18-20) และยากอบกับยอห์น (4:21-22) ส่วนของมัทธิวไม่มีการบันทึกไว้จนกระทั่งเข้ามัทธิว 9:9

ดูเหมือนการทรงเรียกนี้เป็นการทรงเรียกที่ถาวร ครั้งนี้พวกสาวกละจากอาชีพประมงไปติดตามพระเยซูเต็มเวลา ข้อเท็จจริงหลายประการชี้ไปในทิศทางนี้ ประการแรก ตามมุมมองของมัทธิว นี่เป็นหนึ่งในการเริ่มต้นพระราชกิจของพระเยซูสู่สาธารณะ จะมีเวลาใดดีไปกว่านี้ที่จะติดตามพระเยซูเต็มเวลา? ประการที่สอง ทั้งสองคู่พี่น้องถูกกล่าวถึงว่า “ละจากแห” มัทธิวบอกเราว่ายากอบและยอห์น “ละจากเรือ” และบิดาไป (4:22) ประการที่สาม คำตรัสของพระเยซู “จงตามเรามาเถิด และเราจะตั้งท่านให้เป็นผู้หาคนดั่งหาปลา“(มัทธิว 4:19) ชี้ให้เห็นว่ามีการเปลี่ยนอาชีพ ขณะที่สาวกเหล่านี้ทิ้งอาชีพประมงไป ทิ้งไปถาวร เป็นจุดหักเหยิ่งใหญ่ในชีวิตของพวกเขา

คำว่า “ในทันที” ที่มัทธิวใช้เราไม่ควรมองข้าม14 ท่านบอกว่าในทันทีที่ชายสี่คนนี้ถูกเรียกให้ตามพระเยซูไป พวกเขาละแหและไปกับพระองค์ ผมรู้ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่คนกลุ่มนี้ถูกเรียก แต่เป็นครั้งแรกที่ถูกเรียกให้ติดตามพระเยซูตลอดไป เมื่อพระเยซูเรียก พวกเขาก็ตอบสนองในทันที ผมเชื่อว่าสิ่งนี้ถูกบันทึกไว้เพื่อให้ผู้อ่านรู้ว่าพระเยซูทรงเป็นผู้มี สิทธิอำนาจ พระองค์ไม่เพียงสั่งสอนด้วยสิทธิอำนาจ (มัทธิว 7:28-29) ทรงเรียกด้วยสิทธิอำนาจ เมื่อพระเยซูตรัส แกะของพระองค์จะตอบสนอง (ดูยอห์น 10:27-29)

โดยทั่วไป สาวกจะเป็นฝ่ายเลือกผู้นำ แต่พระเยซูเป็นฝ่ายเลือกสาวก พระองค์ไม่ได้เลือกพวกหมัดหนัก (แม้เปโตรอยากจะลองสักตั้งก็ตาม) พระองค์เรียกคนที่ยอมรับการสอนเกี่ยวกับแผ่นดินสวรรค์ เป็นตัวบ่งว่าพันธกิจแบบไหนที่พระองค์รับมอบหมายมา ทรงเลือกคนที่พระองค์จะมอบอำนาจให้ และให้พวกเขาอยู่ต่อเพื่อประกาศข่าวประเสริฐแห่งพระกิตติคุณ และในตอนท้าย พระองค์สั่งสาวกเหล่านี้ให้ออกไปสร้างผู้อื่นให้เป็นสาวก (มัทธิว 28:18-20) แผ่นดินของพระองค์ไม่ได้มาในทันที แต่จะมาเมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้

พระเยซูทรงรักษา เทศนา และสั่งสอนในกาลิลี (มัทธิว 4:23-25)

23 พระเยซูได้เสด็จไปทั่วแคว้นกาลิลี ทรงสั่งสอนในธรรมศาลาของเขา ทรงประกาศข่าวประเสริฐเรื่องแผ่นดินของพระเจ้า และทรงรักษาโรคภัยไข้เจ็บของชาวเมืองให้หาย 24 กิตติศัพท์ของพระองค์ก็เลื่องลือไปทั่วประเทศซีเรีย เขาจึงพาคนป่วยเป็นโรคต่างๆ คนที่ทนทุกข์เวทนา คนผีเข้า คนเป็นลมบ้าหมูและคนเป็นอัมพาตมาหาพระองค์ พระองค์ก็ทรงรักษาเขาให้หาย 25 และมีคนหมู่ใหญ่มาจากแคว้นกาลิลี และแคว้นทศบุรีและกรุงเยรูซาเล็ม และแคว้นยูเดีย และแม่น้ำจอร์แดนฟากตะวันออกติดตามพระองค์ไป

เราต้องจำว่าพระราชกิจของพระเยซูบนโลกส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกาลิลี มัทธิวจึงพูดถึงการเริ่มพระราชกิจของพระองค์ที่กาลิลีเหมือนเป็นการเปิดตัว และประสบความสำเร็จในทันที เพราะพระองค์เสด็จไปทั่วกาลิลี สั่งสอน เทศนา และรักษาโรค (ข้อ 23) เราคงนึกภาพข่าวที่แพร่กระจายไป มัทธิวให้เราเห็นภาพรวมความสำเร็จของพระองค์ที่กาลิลี ลองมาดูความสำเร็จบางอย่างที่พระองค์ทำ:

14 ครั้นพระเยซูเสด็จเข้าไปในเรือนของเปโตร ก็ทรงเห็นแม่ยายของเปโตรนอนป่วยจับไข้อยู่ 15 พอพระองค์ทรงจับมือนาง ความไข้ก็หาย นางจึงลุกขึ้นปรนนิบัติพระองค์ 16 พอค่ำลง เขาพาคนผีเข้าสิงเป็นอันมากมาหาพระองค์ พระองค์ก็ทรงขับผีออกด้วยพระดำรัส และบรรดาคนเจ็บป่วยทั้งหลายนั้น พระองค์ก็ได้ทรงรักษาให้หาย 17 ทั้งนี้เพื่อจะให้สำเร็จตามพระวจนะโดยอิสยาห์ผู้เผยพระวจนะที่ว่า ท่านได้แบกความเจ็บไข้ของเราทั้งหลาย และหอบโรคของเราไป (มัทธิว 8:14-17)

นึกภาพตามว่าจะเป็นอย่างไรถ้าได้เห็นพระเยซูกำลังทำพระราชกิจ มีข่าวลือแพร่ออกไปว่าแม่ยายของเปโตรได้รับการรักษา คุณรีบวิ่งไปที่บ้านของเธอเพื่อให้เห็นกะตา มีคนจำนวนมากกำลังมุงอยู่ และมีคนเป็นโรคต่างๆถูกนำมาหาพระเยซู พระองค์ทรงรักษาทุกคนให้หาย ไม่มีใครถูกทิ้งให้ป่วยอยู่เลย รวมถึงคนถูกผีสิง คนป่วยที่ไม่มีทางรักษา ถ้าเป็นทุกวันนี้ โรคร้ายแรง คนเป็นมะเร็ง คงยืนต่อแถวรับการรักษา

พระราชกิจของพระเยซูไม่เพียงแต่กว้างขวาง แต่ยังเหน็ดเหนื่อยและใช้เวลามากมาย อย่างที่ ดี เอ คาร์สันกล่าว:

พระราชกิจของพระเยซูรวมถึงการสั่งสอน เทศนา และรักษาโรค กาลิลีมีอาณาบริเวณไม่ใหญ่นัก (น่าจะ 70×40 ไมลส์) แต่ที่โจเซฟัสบันทึกหลังจากนั้นหนึ่งช่วงอายุคน กาลิลีมี 204 เมืองและหมู่บ้าน แต่ละแห่งมีคนไม่น้อยกว่าหมื่นห้าพัน ตัวเลขนี้หมายถึงคนที่อาศัยอยู่ในกำแพงเมือง ไม่ใช่ชนบทด้านนอก (ซึ่งโจเซฟัสไม่ได้พูดถึง) ตัวเลขเชิงอนุรักษ์นี้ชี้ว่ามีประชากรจำนวนมาก แม้จะน้อยกว่าสามล้านของโจเซฟัส ในอัตราสองหมู่บ้านหรือสองเมืองต่อวัน ยังต้องใช้เวลาสามเดือนถึงจะไปได้ทั่ว รวมถึงไม่มีวันพักในวันสะบาโตด้วย15

โรคต่างๆที่ได้รับการรักษา และความจริงที่ว่าไม่มีโรคใดยากเกินกว่าที่พระเยซูจะรักษา ยิ่งเน้นให้เห็นถึงสิทธิอำนาจ พระเยซูทรงทำพระราชกิจในทำเลที่กินวงกว้าง รวมถึงซีเรีย16 เดคาโพลิส เยรูซาเล็ม และยูเดีย และเลยไปถึงจอร์แดน17 การที่พระเยซูกลับที่กาลิลีไม่ใช่ทำให้พระองค์ไม่เป็นที่รู้จัก แต่กลับกลายเป็นส่งให้พระองค์โดดเด่นขึ้นมา

บทสรุป

ก็มาถึงจุดที่เราต้องกลับมาถามตัวเอง “อะไรคือประเด็นของพระวจนะตอนนี้?” ทำไมมัทธิวถึงใส่ตอนนี้คั่นไว้ระหว่างการทดลองของพระเยซู และคำเทศนาบนภูเขา? เราควรเรียนรู้สิ่งใดจากเรื่องนี้?

สิ่งแรกที่เราต้องสังเกตุคือสิ่งที่ผมเรียกว่า “ความสัมพันธ์ของชาวกาลิลี” สิ่งที่เชื่อมโยงทั้งสามตอนเข้าด้วยกันคือทั้งหมดเกิดขึ้นในกาลิลี อาจฟังดูไม่น่ามีประเด็นสำคัญ แต่ขอบอกว่ามันสำคัญมาก มากกว่ามองดูอย่างผิวเผินในตอนแรก มาดูความสำคัญในความสัมพันธ์ของพระเยซูกับกาลิลีในพระราชกิจของพระองค์

พระเยซูทรงเริ่มพระราชกิจของพระองค์ในกาลิลี18 แน่นอนเราเห็นได้ทั้งในมัทธิวและมาระโก (1:14) ที่ผมไม่ได้เห็นก่อนหน้าคือความจริงที่มีถูกเน้นไว้ในตอนอื่นๆของพระคัมภีร์ใหม่:

34 ฝ่ายเปโตรจึงกล่าวว่า “ข้าพเจ้าเห็นจริงแล้วว่า พระเจ้าไม่ทรงเลือกหน้าผู้ใด 35 แต่คนใดๆในทุกชาติที่เกรงกลัวพระองค์ และประพฤติตามทางชอบธรรมก็เป็นที่ชอบพระทัยพระองค์ 36 เรื่องที่พระองค์ได้ทรงฝากไว้กับพวกอิสราเอล คือทรงประกาศข่าวดีเรื่องสันติสุขโดยพระเยซูคริสต์ ผู้เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของคนทั้งปวง 37 เรื่องนั้นท่านทั้ง หลายก็รู้ คือเรื่องที่ได้เล่ากันตั้งแต่ต้น ที่แคว้นกาลิลีไปจนตลอดทั่วแคว้นยูเดีย ภายหลังการบัพติศมาที่ยอห์นได้ประกาศนั้น 38 คือเรื่องพระเยซูชาวนาซาเร็ธ ว่าพระเจ้าได้ทรงเจิมพระองค์ด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ และด้วยฤทธานุภาพอย่างไร และพระเยซูเสด็จไปกระทำคุณประโยชน์ และรักษาบรรดาคนซึ่งถูกมารเบียดเบียน เพราะว่าพระเจ้าทรงสถิตกับพระองค์ 39 เราทั้งหลายเป็นพยานถึงกิจการทั้งปวง ซึ่งพระองค์ทรงกระทำ ในแคว้นยูเดียและในกรุงเยรูซาเล็ม พระองค์นั้นเขาได้ฆ่าโดยแขวนไว้ที่ต้นไม้ (กิจการ 10:34-39 ที่ขีดเส้นคือผมเน้น)

29 ครั้นทำจนสำเร็จทุกอย่าง ตามซึ่งมีเขียนไว้ในพระคัมภีร์แล้วว่าด้วยพระองค์ เขาจึงเชิญพระศพของพระองค์ลงจากต้นไม้ ไปประดิษฐานไว้ในอุโมงค์ 30 แต่พระเจ้าได้ทรงให้พระองค์คืนพระชนม์ 31 พระองค์ทรงปรากฏแก่คนทั้งหลายที่ตามพระองค์ จากแคว้นกาลิลีไปยังกรุงเยรูซาเล็มเป็นหลายวัน บัดนี้คนเหล่านั้นเป็นพยานข้างพระองค์ให้แก่คนทั้งหลาย (กิจการ 13:29-31 ที่ขีดเส้นคือผมเน้น)

งานวันเกิดเฮโรดมีพวกผู้นำกาลิลีไปด้วย ผมไม่เคยสังเกตุข้อนี้มาก่อน แต่มาระโกบอกเราว่าคนที่ไปงานเลี้ยงวันเกิดเฮโรดคือพวกผู้นำของกาลิลี:

21 ครั้นอยู่มาวันหนึ่งเป็นโอกาสดี คือเป็นวันฉลองวันกำเนิดของเฮโรด เฮโรดได้จัดการเลี้ยงขุนนางกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และคนสำคัญๆทั้งปวงในแคว้นกาลิลี 22 เมื่อบุตรีของนางเฮโรเดียสเข้ามาเต้นรำ ทำให้กษัตริย์เฮโรด และแขกทั้งปวงชอบใจ กษัตริย์จึงตรัสกับหญิงสาวนั้นว่า “เธอจะขอสิ่งใดก็จะให้สิ่งนั้น” (มาระโก 6:21-22)

ถ้าเพื่อนๆของเฮโรดและบรรดาคนที่คบกันอยู่เป็นชาวกาลิลี ยิ่งทำให้คนกาลิลีนั้นดูชั่วร้ายขึ้นในสายตาของชาวยิวในเยรูซาเล็มและยูเดีย

สาวกของพระเยซูเป็นชาวกาลิลี จากที่เรียนมาในตอนนี้เราพบว่าพระเยซูทรงเรียกชายสี่คนให้ติดตามพระองค์ไป ที่เราควรสังเกตุให้ดีคือพระองค์ทรงเรียกพวกเขาจากแถวชายฝั่งทะเลกาลิลี ท้งสี่คนนี้เป็นชาวกาลิลี รวมถึงสาวกที่เหลือของพระองค์ด้วย:

69 ฝ่ายเปโตรนั่งอยู่นอกตึกที่ลานบ้าน มีสาวใช้คนหนึ่งมาพูดกับเขาว่า แกได้อยู่กับเยซูชาวกาลิลีด้วยเหมือนกัน 70 แต่เปโตรได้ปฏิเสธต่อหน้าคนทั้งปวงว่า “ที่เจ้าว่านั้นข้าไม่รู้เรื่อง” (มัทธิว 26:69-70)

69 อีกครั้งหนึ่งสาวใช้คนนั้นได้เห็นเปโตร แล้วบอกกับคนที่ยืนอยู่ที่นั่นว่า “คนนี้แหละเป็นพวกเขา” 70 แต่เปโตรก็ปฏิเสธอีก แล้วอีกสักครู่หนึ่งคนทั้งหลายที่ยืนอยู่ที่นั่นได้ว่าแก่เปโตรว่า เจ้าเป็นคนหนึ่งในพวกนั้นแน่แล้ว ด้วยว่าเจ้าเป็นชาวกาลิลี (มาระโก 14:69-70)

10 เมื่อเขากำลังเขม้นดูฟ้า เวลาที่พระองค์เสด็จขึ้นไปนั้น มีสองคนสวมเสื้อขาวมายืนอยู่ข้างๆเขา 11 สองคนนั้นกล่าวว่า ชาวกาลิลีเอ๋ย เหตุไฉนท่านจึงเขม้นดูฟ้าสวรรค์ พระเยซูองค์นี้ซึ่งทรงรับไปจากท่านขึ้นไปยังสวรรค์นั้น จะเสด็จมาอีกเหมือนอย่างที่ท่านทั้งหลายได้เห็นพระองค์เสด็จไปยังสวรรค์ นั้น” (กิจการ 1:10-11)

5 มีพวกยิวจากทุกประเทศทั่วใต้ฟ้าซึ่งเป็นผู้เกรงกลัวพระเจ้า มาอยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม 6 เมื่อมีเสียงอย่างนั้นเขาจึงพากันมา และฉงนสนเท่ห์เพราะต่างคนต่างได้ยินเขาพูดภาษาของตัว 7 คนทั้งปวงจึงประหลาดและอัศจรรย์ใจพูดว่า “ดูแน่ะ คนทั้งหลายที่พูดกันนั้นเป็นชาวกาลิลีทุกคนไม่ใช่หรือ 8 เหตุไฉนเราทุกคนได้ยินเขาพูดภาษาของบ้านเกิดเมืองนอนของเรา (กิจการ 2:5-8)

ผมอาจพิสูจน์ไม่ได้ แต่ทำให้คิดได้ว่าเพราะสาวกของพระเยซูเป็นชาวกาลิลี ชาวยิวในเยรูซาเล็มจึงดูถูก พระวจนะด้านล่างในกิจการอาจสะท้อนให้เห็นที่มาของพวกสาวก:

12 ในผู้อื่นความรอดไม่มีเลย ด้วยว่านามอื่นซึ่งให้เราทั้งหลายรอดได้ ไม่ทรงโปรดให้มีในท่ามกลางมนุษย์ทั่วใต้ฟ้า” 13 เมื่อเขาเห็นความกล้าหาญของเปโตรกับยอห์น และรู้ว่าท่านทั้งสองขาดการศึกษาและเป็นคนสามัญ ก็ประหลาดใจ แล้วสำนึกว่าคนทั้งสองเคยอยู่กับพระเยซู 14 เมื่อเขาเห็นคนนั้นที่หายโรคยืนอยู่กับเปโตรและยอห์น เขาก็ไม่มีข้อคัดค้านที่จะพูดขึ้นได้ (กิจการ 4:12-14)

พวกผู้หญิงที่ติดตามพระเยซูไปเป็นชาวกาลิลี ไม่ใช่สาวกเท่านั้นที่เป็นชาวกาลิลี พวกผู้หญิงที่ติดตามพระเยซูไปก็มาจากกาลิลีด้วย:

55 ที่นั่นมีหญิงหลายคนที่ได้ติดตามพระองค์ จากกาลิลีเพื่อจะปรนนิบัติพระองค์ มองดูอยู่แต่ไกล 56 ในพวกนั้นมีมารีย์ชาวมักดาลา มารีย์มารดาของยากอบและโยเซฟ และมารดาของบุตรเศเบดี (มัทธิว 27:55-56)

55 ฝ่ายพวกผู้หญิงที่ตามพระองค์มาจากแคว้นกาลิลีก็ตามไปและได้เห็นอุโมงค์ ทั้งได้เห็นเขาวางพระศพของพระองค์ไว้อย่างไรด้วย 56 แล้วเขาก็กลับไปจัดแจงเครื่องหอมกับน้ำมันหอม ในวันสะบาโตนั้นเขาก็หยุดการไว้ตามพระบัญญัติ (ลูกา 23:55-56)

ชาวกาลิลีไม่เป็นที่นับถือ แต่กลับโดนดูหมิ่นเหยียดหยาม แม้แต่นาธานาเอลเองยังสงสัยในชาวกาลิลี:19

45 ฟีลิปไปหานาธานาเอลบอกเขาว่า “เราได้พบพระองค์ผู้ที่โมเสสได้กล่าวถึงในหนังสือธรรมบัญญัติ และที่พวกผู้เผยพระวจนะได้กล่าวถึง คือ พระเยซู ชาวนาซาเร็ธบุตรโยเซฟ” 46 นาธานาเอลถามเขาว่า สิ่งดีอันใดจะมาจากนาซาเร็ธได้หรือ ฟีลิปตอบว่า “มาดูเถิด” (ยอห์น :45-46)

40 เมื่อประชาชนได้ฟังดังนั้น บางคนก็พูดว่า “ท่านผู้นี้เป็นผู้เผยพระวจนะนั้นแน่” 41 คนอื่นๆก็พูดว่า “ท่านผู้นี้เป็นพระคริสต์” แต่บางคนพูดว่า พระคริสต์จะมาจากกาลิลีหรือ 42 พระคัมภีร์กล่าวไว้มิใช่หรือ ว่าพระคริสต์จะมาจากเชื้อพระวงศ์ของดาวิด และมาจากหมู่บ้านเบธเลเฮม ชนบทซึ่งดาวิดเคยอยู่นั้น” (ยอห์น 7:40-42)

50 นิโคเดมัสผู้ที่ได้มาหาพระองค์คราวก่อนนั้น และเป็นคนหนึ่งในพวกเขา ได้กล่าวแก่พวกเขาว่า 51 “กฎหมายของเราตัดสินคนใดโดยที่ยังไม่ได้ฟังเขาก่อน และรู้ว่าเขาได้ทำอะไรบ้างหรือ” 52 เขาทั้งหลายตอบนิโคเดมัสว่า ท่านมาจากกาลิลีด้วยหรือ จงค้นหาดูเถิด แล้วท่านจะเห็นว่าไม่มีผู้เผยพระวจนะเกิดขึ้นมาจากกาลิลี” 53 ต่างคนต่างกลับไปบ้านของตน (ยอห์น 7:50-53)

แม้เมื่อพระราชกิจของพระองค์ที่บนโลกใกล้จบลง พระเยซูก็ยังแสดงพระองค์ว่าเป็นหนึ่งในชาวกาลิลี:

“แต่เมื่อทรงให้เราฟื้นขึ้นมาแล้ว เราจะไปยังแคว้นกาลิลีก่อนหน้าท่าน” (มัทธิว 26:32)

7 แล้วจงรีบไปบอกพวกสาวกของพระองค์เถิดว่า พระองค์ทรงเป็นขึ้นมาจากความตายแล้ว และพระองค์เสด็จไปยังแคว้นกาลิลีก่อนเจ้าทั้งหลาย เจ้าทั้งหลายจะเห็นพระองค์ที่นั่น นี่แหละเราก็บอกเจ้าแล้ว” (มัทธิว 28:7)

10 พระเยซูจึงตรัสกับเขาว่า “อย่ากลัวเลย จงไปบอกพวกพี่น้องของเราให้ไปยังกาลิลี จะได้พบเราที่นั่น” (มัทธิว 28:10)

16 แต่สาวกสิบเอ็ดคนนั้น ก็ได้ไปยังกาลิลี ถึงภูเขาที่พระเยซูได้ทรงกำหนดไว้ (มัทธิว 28:16)

ผมเชื่อว่ามัทธิวทำงานหนักเพื่อจะเน้นให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่พระเยซูทรงมีต่อกาลิลี

  • บิดามารดาของพระเยซูมาจากกาลิลี และพระองค์น่าจะถือกำเนิดที่นั่น แต่โดยการทรงนำของพระเจ้า (เพื่อให้คำพยากรณ์สำเร็จลง) พระเยซูจึงถือกำเนิดมาในเบธเลเฮม แคว้นยูเดีย)
  • พระเยซูเติบโตขึ้นมาในกาลิลี พระเจ้าสั่งให้โยเซฟพานางมารีย์และพระเยซูหนีไปที่อียิปต์ และกลับมาที่นาซาเร็ธในกาลิลี พระเยซูทรงเป็นชาวกาลิลี และนี่คือบ้านของพระองค์
  • พระเยซูทรงเริ่มพระราชกิจของพระองค์บนโลกนี้ที่กาลิลี และเสด็จจากกาลิลีเพื่อมุ่งสู่เยรูซาเล็ม
  • ชาวกาลิลีหลายคนติดตามพระองค์ไปเยรูซาเล็ม สาวกของพระองค์และพวกผู้หญิงก็ติดตามพระองค์ไป
  • พระราชกิจของพระเยซูที่บนโลกนี้ส่วนใหญ่อยู่ในกาลิลี
  • พระเยซูทรงไปพบสาวกของพระองค์ในกาลิลี หลังจากการคืนพระชนม์

มัทธิวชี้ให้ผู้อ่านรู้ว่าพระเยซูมาจากกาลิลี ท่านบอกเราว่าหลังพิธีบัพติศมาและพระราชกิจเบื้องต้นที่ในยูเดีย พระองค์เสด็จกลับมาที่กาลิลี และที่นั่นทรงเริ่มสั่งสอนท่ามกลางฝูงชน จนทำให้พระองค์ต้องไปสู่เยรูซาเล็ม มัทธิวต้องการให้คนอ่านรู้ว่าพระเยซูไม่เพียงแต่เสด็จไปที่กาลิลี แต่พระองค์ทรงมาจากกาลิลีด้วย – คือทรงเป็นชาวกาลิลีเช่นเดียวกับพวกสาวก แล้วมัทธิวมีประเด็นหรือจุดประสงค์อะไรที่เน้นเรื่องกาลิลี?

ประการแรก ผมเชื่อว่าความเกี่ยวข้องของพระองค์กับกาลิลีเป็นส่วนหนึ่งของความถ่อมใจใน ฐานะพระเมสซิยาห์ พระเยซูทรงยอมถ่อมพระองค์ลงมาเกิดบนโลกนี้ในฐานะมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ (ฟีลิปปี 2:5-8; ฮีบรู 2:14-18; 4:14-16; 5:7-10) อิสยาห์พยากรณ์ว่าพระเมสซิยาห์จะถูกมนุษย์ปฏิเสธ:

1 ใครเล่าจะเชื่อสิ่งที่เราทั้งหลายได้ยิน
พระกรของพระเจ้าได้ทรงสำแดงแก่ผู้ใด
2 เพราะท่านได้เจริญขึ้นต่อพระพักตร์พระองค์อย่างต้นไม้อ่อน
และเหมือนรากแตกหน่อมาจากพื้นดินแห้ง
ท่านไม่มีรูปร่างหรือความสวยงาม
ซึ่งเราทั้งหลายจะมองท่าน
และไม่มีความงามที่เราจะพึงปรารถนาท่าน
3 ท่านได้ถูกมนุษย์ดูหมิ่นและทอดทิ้ง
เป็นคนที่รับความเจ็บปวด และคุ้นเคยกับความเจ็บไข้
และดังผู้หนึ่งซึ่งคนทนมองดูไม่ได้ ท่านถูกดูหมิ่น
และเราทั้งหลายไม่ได้นับถือท่าน (อิสยาห์ 53:1-3)

ผมเชื่อว่าเหตุการณ์ในมัทธิว 2 ทำให้คำพยากรณ์ของอิสยาห์สำเร็จเป็นจริง พระเยซูทรงถือกำเนิดมาอย่างต่ำต้อย ถูกผู้คนในเยรูซาเล็มปฏิเสธ ถูกเฮโรดต่อต้านและหาทางฆ่า เมื่อบิดามารดาของพระองค์พากลับจากอียิปต์ พระเจ้าทรงนำโยเซฟและครอบครัวไปที่นาซาเร็ธแห่งกาลิลี และมัทธิวบอกเราว่าทำให้คำพยากรณ์สำเร็จลง (ไม่มีอ้างอิง)20 คำพยากรณ์ที่บอกว่าพระเยซูจะถูกเรียกว่าเป็นชาวนาซาเร็ธ (2:23) พระเยซูและพวกสาวกก็ถูกปฏิเสธด้วย (อย่างน้อยก็โดนดูหมิ่นเหยียดหยาม) จากหลายคน เพราะเหตุว่าเกี่ยวข้องกับกาลิลี (เช่น ยอห์น 7:40-41)

ประการที่สอง ผมเชื่อว่าการที่พระเยซูมีส่วนเกี่ยวข้องกับกาลิลีสอดคล้องกับพระประสงค์ใน การช่วยกู้ของพระองค์ ตามที่อิสยาห์ 9 อธิบาย กาลิลีไม่เพียงแต่มีคนต่างชาติอาศัยอยู่มาก มากกว่าเยรูซาเล็มหรือยูเดีย แต่ยังเป็นที่ๆความกระหายด้านจิตวิญญาณสูง ประชาชนต่างดำเนินอยู่ในความมืด เป็นที่ๆผู้คนนั่งอยู่ในเงามืดแห่งความตาย และในที่ๆทั้งผู้คนและสถานที่กำลังโหยหา มีความสว่างส่องเข้ามา แต่ผมไม่ได้บอกว่าประชาชนในยูเดียมีจิตวิญญาณที่สูงส่งกว่า หรือไม่ได้อยู่ในความโหยหา แต่จะบอกว่าพวกเขาไม่ได้มองแบบนี้ ผู้คนในเยรูซาเล็มและยูเดียมองว่าตนเองเป็นผู้สว่างแล้วในจิตวิญญาณ พวกเขาผิดแน่นอนครับ

มัทธิว อาจมองทะลุกว่าสาวกคนอื่นๆ ท่านซาบซึ้งในพระเมตตาของพระเยซูที่มีต่อจิตวิญญาณที่นั่งอยู่ในความมืด และมีโหยหา:

9 ครั้นพระเยซูเสด็จเลยตำบลนั้นไป ก็เห็นคนหนึ่งชื่อมัทธิวนั่งอยู่ที่ด่านภาษี จึงตรัสกับเขาว่า “จงตามเรามาเถิด” เขาก็ลุกขึ้นตามพระองค์ไป 10 เมื่อพระองค์ประทับเสวยพระกระยาหารอยู่ในเรือน มีคนเก็บภาษีและคนบาปอื่นๆหลายคน เข้ามาร่วมสำรับกับพระเยซู และกับพวกสาวกของพระองค์ 11 เมื่อพวกฟาริสีเห็นแล้ว ก็กล่าวแก่สาวกของพระองค์ว่า “ทำไมอาจารย์ของท่านจึงรับประทานอาหารด้วยกันกับคนเก็บภาษีและคนนอกรีตเล่า” 12 เมื่อพระเยซูทรงทราบดังนั้นแล้วก็ตรัสว่า “คนเจ็บต้องการหมอ แต่คนสบายไม่ต้องการ 13 ท่านทั้งหลายจงไปเรียนคัมภีร์ข้อนี้ให้เข้าใจ ที่ว่า เราประสงค์ความเมตตา ไม่ประสงค์เครื่องสัตวบูชา ด้วยว่าเรามิได้มาเพื่อจะเรียกคนที่เห็นว่าตัวชอบธรรม แต่มาเรียกคนที่พวกท่านว่านอกรีต” (มัทธิว 9:9-13)

ผมขอเรียกสิ่งนี้ว่า “หลักการผกผัน” พระเยซูถูกดึงไปยังคนที่รู้ตัวว่าตนเองหิวกระหาย คนที่ถูกชิงชังรังเกียจจากคนที่คิดว่าตนเองสูงส่งกว่าด้านจิตวิญญาณ ทรงแสวงหาคนบาป พระเยซูทรงสำแดงพระคุณของพระเจ้า จึงนำพระสิริที่ยิ่งใหญ่กลับคืนสู่พระองค์ อ.เปาโลกล่าวว่า:

26 ดูก่อนพี่น้องทั้งหลาย จงพิจารณาดูว่า พวกท่านที่พระเจ้าได้ทรงเรียกมานั้นเป็นคนพวกไหน มีน้อยคนที่โลกนิยมว่ามีปัญญา มีน้อยคนที่มีอำนาจ มีน้อยคนที่มีตระกูลสูง 27 แต่พระเจ้าได้ทรงเลือกคนที่โลกถือว่าโง่เขลา เพื่อทำให้คนมีปัญญาอับอาย และได้ทรงเลือกคนที่โลกถือว่าอ่อนแอ เพื่อทำให้คนที่แข็งแรงอับอาย 28 พระเจ้าได้ทรงเลือกสิ่งที่โลกถือว่าต่ำต้อยและดูหมิ่น และเห็นว่าไร้สาระ เพื่อทำลายสิ่งซึ่งโลกเห็นว่าสำคัญ 29 เพื่อมิให้มนุษย์สักคนหนึ่งอวดต่อพระเจ้าได้ 30 โดยพระองค์ ท่านจึงอยู่ในพระเยซูคริสต์ เพราะพระเจ้าทรงตั้งพระองค์ให้เป็นปัญญาและความชอบธรรมของเรา และเป็นผู้ทรงชำระเราให้บริสุทธิ์ และทรงเป็นผู้ไถ่เราไว้ให้พ้นบาป 31 เพื่อให้เป็นไปตามพระคัมภีร์ที่เขียนว่า ให้ผู้โอ้อวด อวดองค์พระผู้เป็นเจ้า (1โครินธ์ 1:26-31)

ภรรยาของผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งแล้วมาเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องของ แกลดี้ส์ อายวอร์ด สตรีที่ได้รับการอวยพรมากในประเทศจีน21สตรี ท่านนี้เกิดในอังกฤษปี ค.ศ. 1902 วันหนึ่งเธอเห็นป้ายที่หน้าโบสถ์เขียนว่ากำลังมีการประชุมมิชชันนารีข้างใน แม้เป็นสมาชิกโบสถ์อื่น เธอก็ลองเข้าไปและได้ยินผู้ชายคนหนึ่งกำลังพูดถึงประเทศจีน เธอรู้สึกมั่นใจว่าพระเจ้ากำลังเรียกเธอให้ไปเป็นมิชชันนารีที่ประเทศจีน จึงไปรับการอบรมในโรงเรียนพันธกิจมิชชันนารี เธอเรียนไม่เก่งนัก และได้รับการแจ้งว่าไม่เหมาะจะไปรับใช้ในประเทศจีน

แกลดี้ส์ อายวอร์ด ไม่ได้คิดอย่างนั้น เธอจึงไปประเทศจีนเองตามลำพัง ไปตามหาผู้หญิงที่ทำพันธกิจอยู่ในโรงเตี๊ยมที่เคยได้ยินมา ด้วยความยากลำบาก แกลดี้ส์ไปจนถึงโรงเตี๊ยมนั้นและเริ่มงานของเธอที่นั่น เมื่อสตรีท่านนั้นตายลง เงินที่ทำโรงเตี๊ยมต่อก็หมดเกลี้ยง แกลดี้ส์จึงต้องออกไปหางานทำเพื่อให้เธอและโรงเตี๊ยมอยู่รอด รัฐบาลจีนมาตามหาเธอ เพราะมีการออกกฎหมายห้ามมัดเท้าทารกเพศหญิง และพวกเขาต้องการคนที่พูดจีนได้ เดินทางไปตามหมู่บ้าน และไปแต่ละบ้านเพื่อสำรวจว่ายังมีการมัดเท้าทารกเพศหญิงอยู่หรือไม่ และแก้มัดเท้าเด็กที่โตแล้วด้วย แกลดี้ส์รับงานนี้ แต่มีข้อตกลงว่าเธอจะแบ่งปันเรื่องความเชื่อกับทุกบ้านที่เธอเข้าไป แล้วเธอก็ทำเช่นนั้น ไปสำรวจทุกบ้าน ทุกหมู่บ้านในเขตที่เธออยู่ และทุกครั้งที่เข้าไปในบ้าน เธอจะแบ่งปันเรื่องข่าวประเสริฐ แต่ละหมู่บ้านมีคนได้รับความรอด มีการตั้งคริสตจักรขึ้น เป็นพันธกิจที่น่าทึ่งจริงๆครับ!

ต่อมามีการนำเรื่องของเธอไปสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อว่า “โรงเตี๊ยมแห่งความสุขที่หก” นำแสดงโดยอินกริด เบิร์กแมน ผมได้ยินมาว่าหลังจากสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว อินกริด เบิร์กแมนได้รับผลกระทบที่ยิ่งใหญ่เมื่อแสดงเป็นแกลดี้ส์ ในที่สุดแกลดี้ส์ก็ได้นำเธอมาสู่ความเชื่อในพระเยซูคริสต์

เรื่องนี้มีบางอย่างที่พิเศษสำหรับผม ได้ยินมาหลายปีแล้ว แต่เพิ่งจำได้เมื่อภรรยาเตือน ตอนนั้นเป็นช่วงที่ผมกำลังคิดเกี่ยวกับตนเองและงานที่อยากทำเพื่อสนองพระคุณ พระคริสต์ แล้วมีนักเทศน์ท่านหนึ่งที่ผมไม่เคยพบหรือรู้จักมาก่อน มาเทศน์เรื่องนี้ แล้วโยงเข้ากับคำพูดของ อ.เปาโลใน 1โครินธ์ 1 ข้อ 26-31 เป็นพระวจนะที่ให้กำลังใจผมที่สุด ขอบคุณพระเจ้าที่พระเยซูไม่เพียงแต่เสด็จไปที่กาลิลี แต่ทรงเลือกชาวกาลิลีให้เป็นสาวกของพระองค์ พระเจ้าทรงเลือกคนที่โลกเรียกว่าโง่เขลา (ตามสายตาของโลก) เพื่อทำให้สติปัญญาของมนุษย์งงงัน และเพื่อพระสิรจะเป็นของพระองค์ ไม่ใช่เพราะกาลิลียิ่งใหญ่อะไร แต่พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่และทรงมีพระคุณล้นเหลือ

การเชื่อมโยงในบริบท

เนื้อหาตอนนี้ มัทธิว 4:12-25 อยู่ตรงกลางระหว่างการทดลองของพระเยซูและคำเทศนาบนภูเขา ช่างเหมาะที่พระวจนะตอนนี้เป็นเหมือนนำร่องเข้าสู่คำเทศนาบนภูเขา ในอีกด้าน พระเยซูทรงแสดงอำนาจของพระองค์โดยรักษาโรคทุกชนิดที่ผู้คนนำมาให้รักษาในกา ลิลี พระองค์ยังทรงสำแดงสิทธิอำนาจโดยการขับผี และการเรียกสาวก (ที่ละแห และตามพระองค์ไปในทันที) จึงไม่น่าแปลกที่ผู้คนต่างอัศจรรย์ใจในคำสอน “ที่เต็มด้วยสิทธิอำนาจ” ของพระองค์ (มัทธิว 7:28-29)

ในอีกด้าน พระเยซูทรงแสดงพระทัยเมตตาสงสารต่อผู้ที่นั่งในความมืดและเงาแห่งความตาย จึงไม่ประหลาดใจที่การสั่งสอนของพระองค์กำลังจะเริ่มต้น

4 “บุคคลผู้ใดโศกเศร้า ผู้นั้นเป็นสุข
เพราะว่าเขาจะได้รับการทรงปลอบประโลม
5 “บุคคลผู้ใดมีใจอ่อนโยน ผู้นั้นเป็นสุข
เพราะว่าเขาจะได้รับแผ่นดินโลกเป็นมรดก (มัทธิว 5:4-5)

นี่คือพระเยซูที่ออกไปแสวงหาและช่วยคนที่กำลังโหยหาได้รับความรอด

เกี่ยวข้องกับอีสเตอร์

ตอนเริ่มของบทเรียนนี้ ผมบอกว่าจะเทศนาเรื่องนี้ในวันอาทิตย์อีสเตอร์ และยังบอกด้วยว่าเพราะเกี่ยวข้องกับอีสเตอร์และการคืนพระชนม์ของพระเยซู ในพระกิตติคุณมัทธิว พระราชกิจของพระเยซูเริ่มต้นที่กาลิลี พร้อมด้วยการทำอัศจรรย์มากมาย พระราชกิจของพระองค์สร้างผลกระทบและสำแดงถึงสิทธิอำนาจในถ้อยคำของพระองค์ เมื่อยอห์นผู้ให้บัพติศมาลังเลใจในพระองค์ พระองค์จึงเตือนยอห์นถึงพระราชกิจและพระคำของพระองค์ซึ่งที่เป็นไปตามที่พระ เจ้าสั่ง และพิสูจน์ให้เห็นว่าพระองค์คือผู้ใด:

18 ฝ่ายพวกศิษย์ของยอห์นก็ได้เล่าเหตุการณ์ทั้งปวงนั้นให้ท่านฟัง 19 ยอห์นจึงเรียกศิษย์ของท่านสองคนใช้เขาไปหาพระเป็นเจ้า ทูลถามว่า “ท่านเป็นผู้ที่จะมานั้นหรือ หรือจะคอยผู้อื่น” 20 เมื่อคนทั้งสองมาถึงพระองค์แล้ว เขาทูลว่า “ยอห์นผู้ให้รับบัพติศมาใช้ข้าพเจ้ามาหาท่านให้ถามว่า ‘ท่านเป็นผู้ที่จะมานั้นหรือ หรือจะต้องคอยผู้อื่น'” 21 ในเวลานั้น พระองค์ได้ทรงรักษาคนเจ็บเป็นอันมากให้หายจากความเจ็บและโรคต่างๆ และให้พ้นจากผีร้าย และคนตาบอดหลายคนพระองค์ได้ทรงรักษาให้เห็นได้ 22 แล้วพระองค์ตรัสตอบศิษย์สองคนนั้นว่า “จงไปแจ้งแก่ยอห์นตามซึ่งท่านได้เห็นและได้ยิน คือว่าคนตาบอดก็หายบอด คนง่อยเดินได้ คนโรคเรื้อนหายสะอาด คนหูหนวกได้ยิน คนตายแล้วเป็นขึ้นมา และข่าวประเสริฐก็ประกาศแก่คนอนาถา 23 บุคคลผู้ใดไม่เห็นว่าเราเป็นอุปสรรคผู้นั้นเป็นสุข” (ลูกา 7:18-23)

เมื่อเริ่มต้นทำพระราชกิจสู่สาธารณะ พระเยซูทรงรับรองคำสอนของพระองค์ด้วยการอัศจรรย์ตามที่เรากำลังเรียนในมัท ธิวบทที่ 4 และเมื่อบทสรุปพระราชกิจของพระองค์ใกล้จบ พระเยซูตรัสยืนยันครั้งสุดท้ายถึงความเป็นพระองค์และสิทธิอำนาจของพระองค์ – การฟื้นขึ้นมาจากความตาย:

38 คราวนั้นมีบางคนในพวกธรรมาจารย์ และพวกฟาริสีมาทูลพระองค์ว่า “อาจารย์เจ้าข้า พวกข้าพเจ้าอยากจะเห็นหมายสำคัญจากท่าน” 39 พระองค์จึงตรัสตอบเขาว่า “คนชาติชั่วและคิดทรยศต่อพระเจ้าแสวงหาหมายสำคัญ และจะไม่ทรงโปรดให้หมายสำคัญแก่เขา เว้นไว้แต่หมายสำคัญของโยนาห์ผู้เผยพระวจนะ 40 ด้วยว่า โยนาห์ได้อยู่ในท้องปลามหึมาสามวัน สามคืน ฉันใด บุตรมนุษย์จะอยู่ในท้องแผ่นดิน สามวันสามคืนฉันนั้น 41 ชนชาวนีนะเวห์จะลุกขึ้นในวันพิพากษาพร้อมกับคนยุคนี้ และจะเป็นตัวอย่างให้คนยุคนี้ได้รับโทษ ด้วยว่าชาวนีนะเวห์ได้กลับใจเสียใหม่ เพราะคำประกาศของโยนาห์ และซึ่งใหญ่กว่าโยนาห์มีอยู่ที่นี่” (มัทธิว 12:38-41)

ในอีกด้าน พระเยซูทรงแสดงให้เห็นชัดถึงพระราชกิจ ฤทธิอำนาจ และสิทธิอำนาจของพระองค์ พระองค์ไม่ได้ปล่อยให้เราดำเนินไปโดยไม่มีพยานยืนยันถึงฤทธิเดชและสิทธิ อำนาจของพระองค์ ขณะที่บทเรียนนี้กำลังนำร่องเข้าสู่คำสอนของพระองค์ มีการคั่นไว้ด้วยการคืนพระชนม์ของพระองค์เพื่อยืนยัน การเริ่มและจบลงของพระราชกิจที่บนโลก ผ่านการรับรองว่าถูกต้อง ไม่เพียงตามคำพยากรณ์ที่สำเร็จลง แต่ในการสำแดงฤทธิอำนาจของพระองค์ในฐานะพระเจ้า ไม่ใช่เพราะข้อพิสูจน์ที่มีไม่เพียงพอทำให้มนุษย์เชื่อ แต่เป็นเพราะใจที่แข็งกระด้างของพวกเขาต่างหาก

ผมจะไม่ปล่อยให้วันนี้ผ่านไปโดยไม่ย้ำเตือนคุณถึงข่าวประเสริฐที่พระเยซู เตรียมไว้ให้และประกาศออกไป คุณและผม ต่างก็เหมือนชาวกาลิลี ดำเนินอยู่ในความมืด อาศัยอยู่ในเงาแห่งความตาย เป็นเพราะพระเจ้านั้นบริสุทธิ์ และเราเป็นคนบาปสมควรแก่พระอาชญานิรันดร์ของพระองค์ แต่ด้วยพระทัยเมตตา ทรงส่งพระบุตรลงมาเพื่อแสวงหาคนบาปและคนที่ต้องการความช่วยเหลือให้ได้รบ ความรอด พระเยซูทรงดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์แบบ ไม่ถูกความบาปแปดเปื้อน จากที่เราเห็นชัยชนะที่มีเหนือการทดลองของมาร พระเยซูทรงสิ้นพระชนม์ที่บนกางเขน ไม่ใช่เพราะความบาปของพระองค์ แต่เพื่อรับโทษทันฑ์แทนความบาปของเรา พระเจ้าทรงให้พระองค์คืนพระชนม์เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าเครื่องบูชาชดใช้บาป นั้นเป็นที่พอพระทัย และพระเยซูกำลังประทับอยู่เบื้องขวาของพระเจ้า รอวันที่จะเสด็จกลับมา พระองค์จะเสด็จมาเพื่อจัดตั้งราชบัลลังก์ของพระองค์บนโลกนี้ และลงโทษผู้ที่ต่อต้านพระองค์ คุณเชื่อและวางใจในสิ่งที่พระเยซูทำเพื่อคุณหรือยัง? การคืนพระชนม์คือข้อพิสูจน์ของพระเจ้าถึงความชอบธรรมของพระเยซูคริสต์:

8 เมื่อพระองค์นั้นเสด็จมาแล้ว พระองค์จะทรงกระทำให้โลกรู้แจ้งในเรื่องความผิด ความชอบธรรม และการพิพากษา 9 ในเรื่องความผิดนั้น คือเพราะเขาไม่วางใจในเรา 10 ในเรื่องความชอบธรรมนั้น คือเพราะเราไปหาพระบิดา และท่านทั้งหลายจะไม่เห็นเราอีก 11 ในเรื่องการพิพากษานั้น คือ เพราะเจ้าโลกนี้ถูกพิพากษาแล้ว (ยอห์น 16:8-11)

โดย : Robert L (Bob) Deffinbaugh


1 132. เป็นต้นฉบับของบทเรียนต่อเนื่องของ “พระกิตติคุณมัทธิว” จัดทำโดย Robert L. Deffinbaugh 20 เมษายน 2003

2 133. ไม่ได้เพื่อบอกว่าพระเยซูยังไม่ได้ทำการอัศจรรย์หรือสั่งสอนใดๆ แต่เพื่อบอกว่ามัทธิวไม่ได้บันทึกเหตุการณ์ก่อนหน้าไว้

3 134. Fredrick Dale Bruner, The Christbook: A Historical/Theological Commentary (Waco, Texas: Word Books, 1987), vol. 1, p. 62.

4 135. นอกจากที่กล่าวไปแล้ว พระวจนะที่นำมาอ้างอิงทั้งหมดมาจาก NET Bible (The NEW ENGLISH TRANSLATION) เป็น ฉบับแปลใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่นำฉบับเก่าในภาษาอังกฤษมาเรียบเรียงใหม่ ใช้ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการพระคัมภีร์มากกว่า ยี่สิบคน รวบรวมข้อมูล ทั้งจากภาษาฮีบรูโดยตรง ภาษาอาราเมข และภาษากรีก โครงการแปลนี้เริ่มมาจากที่เราต้องการนำ พระคัมภีร์ เผยแพร่ผ่านสื่ออีเลคโทรนิค เพื่อรองรับการใช้งานทางอินเตอร์เน็ท และซีดี (compact disk) ที่ใดก็ตามในโลก ที่ต่อเข้าอินเตอร์เน็ทได้ ก็สามารถเรียกดู และพริ้นทข้อมูลไว้เพื่อใช้ศึกษาเป็นการส่วนตัวได้โดยไม่คิดมูลค่า นอกจากนี้ ผู้ใดก็ตาม ที่ต้องการนำข้อมูลเกี่ยวกับพระคัมภีร์ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่คิดเงิน สามารถทำได้จากเว็บไซด์ : www.netbible.org.

5 136. James Montgomery Boice, The Gospel of Matthew (Grand Rapids, Michigan: Baker Books, 2001), vol. 1, p. 62.

6 137. ลีออน มอริส นำคำของฟิลสันมาอ้างว่า: “เมื่อพระเยซูเสด็จไปกาลิลี จึงเป็นเหมือนคำตอบให้แก่เฮโรด พระองค์ทรงเข้าไปทำพระราชกิจในเขตปกครองของเฮโรด เป็นสิ่งที่เฮโรดพยายามยับยั้งด้วยการจับกุมยอห์น พระเยซูทรงเริ่มพระราชกิจที่ท้าทายมากกว่าหนีไปหลบซ่อน” Leon Morris, The Gospel According to Matthew (Grand Rapids, Michigan: William B. Eerdmans Publishing Company, 1992), p. 80, fn. 37.

7 138. Bruner, p. 118.

8 139. Bruner, p. 118.

9 140. Morris, pp. 80-81.

10 141. R.V.G. Tasker, The Gospel According to St. Matthew: An Introduction and Commentary (Grand Rapids, Michigan: Wm. B. Eerdmans Publishing Company, 1968), p. 56.

11 142. “‘ผู้เผยพระวจนะเมื่อประกาศเรื่องการพิพากษาและความหายนะ จะประกาศด้วยว่าความสว่างแห่งความหวังในการถือกำเนิดมาของผู้มาสืบทอดราช บัลลังก์ดาวิด มาจัดตั้งอาณาจักรแห่งสันติภาพ แต่ความสว่างนั้นไม่ได้ส่องไปที่เยรูซาเล็มหรือยูเดียก่อน แต่เป็นทางเหนือสุดของแผ่นดินอิสราเอล พื้นที่ๆอยู่ในความมืดและความตาย และพระเยซูเป็นผู้มาทำให้คำพยากรณ์โบราณนั้นสำเร็จลง เป็นสิ่งที่ยอห์นผู้ให้บัพติศมาไม่สามารถให้ได้ เมื่อประกาศให้มีการกลับใจ’” Levertoff, as cited by Tasker, p. 56.

12 143. “คำว่า diktuon เป็นคำทั่วไปสำหรับ “แห” ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นแหแบบไหนในข้อ18 เป็นคำพหูพจน์ซึ่งใช้สำหรับแหที่พวกชาวประมงใช้ประกอบอาชีพ แล้วพวกเขาก็ละจากแหทั้งหมดนั้นไป” Morris, p. 86, fn. 60.

13 144. ผมคิดเอนเอียงไปว่าสาวกคนอื่นๆของยอห์นผู้ให้บัพติศมาคือยอห์น น้องชายของยากอบ และเป็นผู้เขียนพระกิตติคุณยอห์น

14 145. คำนี้มีใช้มากกว่า 80 ครั้งในหนังสือพระกิตติคุณ มาระโกใช้มากที่สุดถึง 40 ครั้ง ในพระกิตติคุณมาระโก มัทธิวใช้ 18 ครั้ง ลูกาใช้ 16 ครั้ง และยอห์น 6 ครั้ง

15 146. D.A. Carson, Matthew, Chapters 1 Through 12 (Grand Rapids, Michigan: Zondervan Publishing House, 1995), pp. 120-121.

16 147. “ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของซีเรียไม่ค่อยชัดเจน จากมุมมองของพระเยซูในกาลิลี ซีเรียอยู่ทางเหนือ จากมุมมองของโรม ซีเรียเป็นจังหวัดหนึ่งของโรมที่รวมเอาปาเลสไตน์ทั้งหมดไว้ (ลูกา 2:2; กิจการ 15:23, 41 กาละเทีย 1:21) กาลิลีเป็นข้อยกเว้นเพราะตอนนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของเฮโรด อันทิพาส ถ้าเป็นตามที่โรมใช้ สะท้อนให้เห็นความตื่นเต้นที่เกิดขึ้นจากพระราชกิจของพระเยซูที่อยู่ไกลออก ไปจากเขตแดนอิสราเอล” Carson, p. 121.

17 148. “ชื่อเสียงของพระเยซูเลื่องลือไปไกลกว่ากาลิลี แม้ที่นั่นความสว่างกำลังจะมา (ข้อ 16) พื้นที่ๆข้ามจอร์แดนไป (อีสท์แบงค์? ดูข้อ 15) และเดคาโพลิส ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่ของคนต่างชาติ ตามที่พูดถึง (1:3-5; 2:1-12, 22-23; 3:9; 4:8, 15-16) เดคาโพลิส (แปลว่าสิบเมือง) หมายถึงเขตแดนตะวันตกของกาลิลี ต่อจากดามัสกัสออกไปทางเหนือ ไปยังฟิลาเดลเฟียทางตอนใต้ รวมแล้วน่าจะสิบเมือง (มีหลายความคิดเห็น) (cf. S. Thomas Parker, ‘The Decapolis Reviewed,’ JBL 94 [1975]: 437-41).” Carson, p. 122.

18 149. ในพระกิตติคุณยอห์น สองหมายสำคัญแรกเป็นหมายสำคัญที่พระเยซูกระทำในกาลิลี (ดูยอห์น 2:11; 4:54)

19 150. ที่จริงนาธานาเอลไม่ได้คิดถึงข้อเท็จจริงว่าพระเยซูเป็นชาวกาลิลี เพราะนาซาเร็ธเป็นเมืองหรือหมู่บ้านในกาลิลี ผมจึงเชื่อว่าทำเลในกาลิลีเป็นเหตุผลที่ดีที่ทำไมนาธานาเอลจึงไม่แน่ใจว่า พระเยซูเป็นพระเมสซิยาห์

20 151. ที่พูดว่า “ไม่มีอ้างอิง” หมายถึงไม่มีตรงไหนในพระคัมภีร์เดิมที่พูดเจาะจงตามที่มัทธิวอ้างในมัทธิว 2:23

21 152. ขอสารภาพว่าตอนทำบทเรียนนี้ผมยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เลยอธิบายไปตามความเข้าใจที่ภรรยาอ่านแล้วมาเล่าให้ฟัง ผมหวังว่าจะได้อ่านในเร็ววัน และอยากให้คุณๆลองไปหาอ่านด้วย

Related Topics: Christology, Issues in Church Leadership/Ministry, Leadership

Report Inappropriate Ad