MENU

Where the world comes to study the Bible

7. “มารผจญพระเยซูครั้งที่สาม” (มัทธิว 4:8-10)

Related Media

I. คำนำ1

A. เบื้องหลัง เราเรียนมาถึงมารมาล่อลวงพระเยซูครั้งที่สามในถิ่นทุรกันดาร เบื้องหลังการทดลองของมารในพระคัมภีร์เดิมคืออิสราเอลในถิ่นทุรกันดาร มีชนชาติใหม่เกิดขึ้น พระเจ้าเรียกว่าเป็น “บุตร” ของพระองค์ (อพยพ 4:22)2 หลังจากช่วยให้หลุดออกจากการเป็นทาสในอียิปต์อย่างอัศจรรย์ พระเจ้าจึงทดสอบประชากรของพระองค์ในถิ่นทุรกันดารเพื่อพิสูจน์จิตใจ (เฉลยธรรมบัญญัติ 8:2) และบ่อยครั้งพวกเขาก็สอบไม่ผ่าน บ่นต่อว่าและไม่ยอมรับตามน้ำพระทัยในบททดสอบ (ดูอพยพ 16:2, 17:3 กันดารวิถี 14:2, 16:11, 41) พวกเขาทดสอบพระเจ้าด้วยการเรียกร้องขอน้ำและอาหาร (อพยพ 15:22 – 17:7) แล้วยังกราบนมัสการวัวทองคำขณะที่โมเสสขึ้นไปรับพระบัญญัติบนภูเขา (อพยพ 32:1-35) ในที่สุดพวกเขาก็ปฏิเสธไม่ยอมเข้าแผ่นดินคานาอันที่พระเจ้าสัญญา เพราะเกรงกลัวคนที่ครอบครองอยู่ พวกเขาดูหมิ่นพระเจ้า พระองค์จึงทำให้ต้องเร่ร่อนในทะเลทรายถึง 40 ปี จนผู้ใหญ่ที่อพยพออกมาจากอียิปต์ตายหมด (กันดารวิถี 13:1-14:45) ในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ โมเสสบันทึกประสบการณ์ในทะเลทรายให้กับคนรุ่นต่อไปได้รับรู้ก่อนที่พวกเขาจะเข้าสู่แผ่นดินพันธสัญญา จากในหนังสือ - เฉลยธรรมบัญญัติ – มีคำตอบต่อทุกคำถามที่มารมาทดลองพระเยซู3

ในพิธีบัพติศมา พระเยซูได้รับการรับรองว่าเป็นบุตรของพระเจ้า (มัทธิว 3:17) ด้วยวิธีที่พิเศษ – ในฐานะกษัตริย์แห่งอิสราเอล พระเมสซิยาห์ตามพระสัญญาในพระคัมภีร์เดิม พระวิญญาณมาประทับเหนือพระเยซูด้วยสัญลักษณ์ของนกพิราบ (มัทธิว 3:16) เช่นเดียวกับอิสราเอล พระวิญญาณทรงนำพระเยซูเข้าสู่ถิ่นทุรกันดารเพื่อเผชิญการทดลอง (มัทธิว 4:1, มาระโก 1:12) มารมาหาพระเยซูหลังจากพระองค์อดอาหารมา 40 วันและคืน ล่อลวงให้พระองค์ใช้ฤทธิอำนาจที่มีอย่างผิดๆ “ถ้าท่านเป็นบุตรของพระเจ้าจริง” มารท้า “ก็จงสั่งก้อนหินเหล่านี้ให้เป็นอาหาร” (มัทธิว 4:3) พูดอีกอย่างคือ “พระเยซู ถ้าท่านกำลังจะตาย รักษาชีวิตไว้ก่อนดีกว่า” แต่พระเยซูทรงตอบจากเฉลยธรรมบัญญัติ 8:3 "มีพระคัมภีร์เขียนไว้ว่า 'มนุษย์จะบำรุงชีวิตด้วยอาหารสิ่งเดียวหามิได้ แต่บำรุงด้วยพระวจนะทุกคำ ซึ่งออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า"(มัทธิว 4:4) พระองค์ทราบดีว่าชีวิตนั้นเป็นมากกว่าชีวิตฝ่ายกาย และทรงทราบว่า การอดอาหารเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบที่พระเจ้ากำหนด พระองค์จึงไม่ใช้ฤทธิอำนาจที่มีเอาตัวรอด แต่วางใจในพระเจ้าผู้ทรงจัดเตรียม

เมื่อมารเห็นว่าพระเยซูตอบโต้การทดลองแรกด้วยพระวจนะของพระเจ้า มันจึงตัดสินใจใช้พระวจนะด้วย หลังจากพาพระเยซูขึ้นไปที่ยอดหลังคาพระวิหารที่สูงที่สุดในเยรูซาเล็ม มันบอกว่า

"ถ้าท่านเป็นพระบุตรของพระเจ้า จงโจนลงไปเถิด เพราะพระคัมภีร์มีเขียนไว้ว่า พระเจ้าจะรับสั่งให้เหล่าทูตสวรรค์ของพระองค์รักษาท่าน และเหล่าทูตสวรรค์จะเอามือประคองชูท่านไว้ มิให้เท้าของท่านกระทบหิน" (มัทธิว 4:6) มารนำพระวจนะจากสดุดี 91:11-12 มาใช้

แน่นอนที่มารอ้าง ในท่ามกลางมนุษย์ทั้งปวงพระองค์ต้องได้รับการปกป้อง แต่พระเยซูมองข้อเสนอของมารออก บีบบังคับให้พระเจ้าเข้ามาช่วยโดยทำตนเองให้เสี่ยงอันตราย ทำให้พระเจ้าต้องเชื่อฟัง มารกำลังพูดทำนองว่า "จะกระโจนลงไปแล้ว พระบิดาโปรดมาช่วยลูกด้วย” พระเยซูไม่ได้ทำตามนั้น แต่กลับไปนำพระวจนะจากเฉลยธรรมบัญญัติ แต่ครั้งนี้จากเฉลยธรรมบัญญัติ 6:16 "พระคัมภีร์มีเขียนไว้อีกว่า อย่าทดลองพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของท่าน" (มัทธิว 4:7) ทดสอบพระเจ้าเป็นความเชื่อที่จอมปลอม พระเจ้าทดสอบเราได้เพราะพระองค์ทรงเป็นพระเจ้า พระองค์อาจต้องการให้เราวางใจและเชื่อฟังในความสัตย์ซื่อของพระองค์ ถ้าเราทดสอบพระเจ้าคือความสงสัย ไม่ใช่ความวางใจ คิดเอาเองไม่ใช่การเชื่อฟัง4

ในบันทึกของมัทธิว การทดลองสองครั้งแรกเป็นการจัดฉากรอสำหรับครั้งที่สาม เป็นความพยายามครั้งสุดท้ายและฉ้อฉลที่สุดเพื่อวางกับดักพระเยซูให้ไม่ภักดีต่อพระเจ้า ให้เราพยายามทำความเข้าใจกับการทดลองนี้ให้ดี และวิธีที่พระเยซูทรงรับมือได้อย่างมีชัย

B. เรื่องเล่า ในปี 1954 นวนิยายเรื่อง “ปีที่พวกแยงกี้เสียธง”5 ของดักกลาส วัลลอพ มีเรื่องเล่าขำๆ ชายวัยกลางคนๆหนึ่ง อ้วนจนรูปร่างดูไม่ได้ แกเป็นแฟนคลับตัวยงของเมเจอร์ลีกในทีมเบสบอล ทีมที่คนนี้เชียร์คือวอชิงตัน ซีเนเตอร์ ที่ไม่มีทางเอาชนะทีมนิวยอร์กแยงกี้ได้ เพื่อจะได้รับธงแห่งชัยชนะ ในฤดูร้อนครั้งหนึ่ง เมื่อทีมซีเนเตอร์พยายามทำแต้มไล่ทีมแยงกี้ มีคนแปลกหน้ามาเสนอข้อตกลงที่เหลือเชื่อกับชายคนนี้ : ให้เขากลายเป็นหนึ่งในนักกีฬาทีมเบสบอลซีเนเตอร์ และจะเป็นผู้ทำให้ทีมนี้มีชัยชนะเหนือทีมแยงกี้6

ใครคือคนแปลกหน้าคนนั้น? ไม่มีใครหรอกนอกจากมาร แล้วราคาคืออะไรที่จะทำให้แฟนคลับได้ในสิ่งที่อยากได้? คนแปลกหน้าใช้ทั้งเล่ห์เหลี่ยมและข้อเสนอที่แปลกๆ แต่ในที่สุดมันก็ชัดเจน : ต้องแลกด้วยวิญญาณ

แน่นอน เขาตอบตกลง เรื่องที่เหลือก็เป็นเรื่องขำๆที่ชายวัยกลางคนนี้หลังจากที่ได้แปลงกายเป็นโจ ฮาร์ดี้ นักเบสบอลมหัศจรรย์วัย 21 ภายในสองเดือนเขาทำโฮมรันได้ 48 ครั้ง ตีถูก 545 และกลายเป็นดาราผู้โด่งดังของชาติ หน้าข่าวกีฬาทุกหน้าในอเมริกาต้องลงเรื่องเขา ได้เซ็นสัญญาด้วยเงินมหาศาลจากทีมซีเนเตอร์ มีผู้หญิงมาไล่ตามมากมาย อย่างที่เราเดาได้ เผอิญเจอกับภรรยาบ้างแต่เธอจำเขาที่แปลงกายแล้วไม่ได้

โจจะหลุดออกจากข้อตกลงของมารได้หรือไม่? ขอไม่บอก – เพราะนี่เป็นส่วนที่ทำให้หนังสือเล่มนี้สนุก ไปหาอ่านกันเองนะครับ

มุมมองที่น่าขันของหนังสือเล่มนี้คือคุณพบคนจำนวนมากที่ทำข้อตกลงแบบนี้กับมาร ไม่ใช่เพื่อเอาชนะทีมแยงกี้ แต่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ – ได้เป็นผู้หญิงสวย เป็นเศรษฐีหมื่นล้าน เป็นนักจิตวิทยา เป็นข้อตกลงที่มารทำได้ทุกเมื่อกับทุกคน “คุณจะได้ทำในสิ่งที่ต้องการ” มันจะบอกว่า “เป็นเรื่องที่ดีนะ เหมือนเอาชนะทีมแยงกี้ได้ แค่ขายวิญญาณให้เท่านั้นเอง”

II. การทดลองของมาร

มารยื่นข้อเสนอเดียวกันนี้ให้กับพระเยซูด้วย พระองค์เองได้แสดงให้เห็นว่าทรงยอมจำนน เป็นบุตรที่เชื่อฟังพระบิดา และทรงใช้พระวจนะตอบโต้มารในการทดลองทั้งสองครั้ง คราวนี้มารปรับกลยุทธใหม่ การทดลองครั้งที่สามไม่ได้เริ่มด้วยคำพูดเหมือนสองครั้งแรกว่า “ถ้าท่านเป็นบุตรของพระเจ้า...” เราจะเห็นต่อไปว่ามารเหมือนจะยอมอ่อนข้อให้สักพักเมื่อเห็นว่าพระเยซูเชื่อฟังพระบิดา ดังนั้นแรงผลักดันครั้งที่สามคือ : พระเยซูผู้เป็นพระบุตรจะยอมทำสิ่งใดเพื่อจัดตั้งอาณาจักรของพระเจ้าที่บนโลกนี้?7

แม้มัทธิวไม่ได้พูด ผมสงสัยว่าถ้าพระเยซูและมารต่างมีบทสดุดีที่ 2 อยู่ในใจ เป็นบทที่พูดถึงพระบุตร พระเมสซิยาห์ ที่จะมาปกครองบรรดาประชาติ8 ที่พูดว่า:

7 ข้าพเจ้าจะบอกถึงพระดำรัสของพระเจ้า พระองค์รับสั่งกับข้าพเจ้าว่า "เจ้าเป็นบุตรของเรา วันนี้เราได้ให้กำเนิดแก่เจ้าแล้ว 8 จงขอจากเราเถิด และเราจะมอบบรรดาประชาชาติให้เป็นมรดกของเจ้า ตลอดทั้งแผ่นดินโลกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้า 9 เจ้าจะตีเขาให้แตกด้วยกระบองเหล็ก และฟาดให้แหลกเป็นชิ้นๆ ดุจภาชนะของช่างปั้นหม้อ" (สดุดี 2:7-9)

คุณว่าพระเยซูหลังจากอดอาหารมา 40 วันและคืนในถิ่นทุรกันดารจะเหมือนกษัตริย์ที่ตรงไหน? พระองค์อยู่ตามลำพัง เหนื่อย มอมแมม หิว และกระหาย กว่าจะเป็นกษัตริย์แห่งแผ่นดินของพระเจ้าได้ หนทางน่าจะอีกยาวไกล มารจึงฉวยโอกาสนี้ พูดทำนองว่า “ขอแสดงให้ท่านเห็นหนทางที่จะได้ทำตามความตั้งใจ” มันพาพระเยซูขึ้นบนภูเขาสูง และให้ทอดพระเนตรอาณาจักรต่างๆของโลกและความยิ่งใหญ่ตระการตา9 น่าจะรวมถึงโรมด้วย ในตอนนั้นความยิ่งใหญ่อลังการและสภาพของพระเยซูน่าจะไปกันคนละทาง "ถ้าท่านจะกราบลงนมัสการเรา เราจะให้สิ่งทั้งปวงเหล่านี้แก่ท่าน"

มีข้อสังเกตุอยู่หลายประการ

A. แรงดึงดูดใจ ลองนำข้อเสนอตามมุมมองของมารมาดูความน่าสนใจ

สภาพของพระเยซู

ข้อเสนอของมาร

ขาดแคลน เหนื่อย หิวโหย

ยิ่งใหญ่อลังการ ไม่มีความทุกข์

อยู่ลำพังกับสัตว์ป่า10

มีความสำคัญ ไม่มีใครไม่รู้จัก

รอไปอย่างไม่มีจุดหมาย

เห็นผลทันที ไม่ล่าช้า

ยังไม่มีสิ่งใดสำเร็จลง

มีอำนาจทำในสิ่งที่ต้องการ

ในทุกสภาพของพระเยซู มารมีทางออกให้ และทางออกท้ายสุดคือกุญแจสำคัญของการทดลองครั้งนี้ คำตอบที่พระเยซูใช้ตอบโต้มารในสองครั้งแรก พระองค์รับมือกับสามข้อแรกด้านบนไปแล้ว ไม่ยอมสั่งหินให้เป็นอาหารเพื่อดับความหิว ไม่ยอมกระโจนจากยอดสูงสุดของหลังคาพระวิหารเพื่อจะได้ความสนใจในทันที ในทั้งสองการทดลองพระองค์ไม่ยอมตกอยู่ภายใต้การล่อลวงเพื่อจะได้เห็นผลในทันที มารจึงเพิ่มองค์ประกอบสำคัญเข้าไปเพื่อให้แพคเกจน่าสนใจยิ่งขึ้น: “ท่านจะได้ความยิ่งใหญ่อลังการ ความสำคัญ และเห็นผลในทันที และท่านยังได้รับใช้พระเจ้าขณะที่ทำด้วย นี่เป็นสิ่งที่ท่านอยากทำไม่ใช่หรือ? รับใช้พระเจ้า? ท่านได้ทำอะไรกับชีวิตไปบ้างแล้วล่ะพระเยซู? เป็นลูกช่างไม้เหรอ? ดูสิเราเสนออาณาจักรทั้งหลายของโลกนี้ให้ท่าน ท่านจะทำอย่างไรก็ได้ตามใจ ท่านเป็นกษัตริย์ไม่ใช่หรือ? เป็นผู้มาตั้งอาณาจักรของพระเจ้าที่บนโลกนี้ นั่นคือสิ่งที่ท่านอยากทำใช่หรือไม่ ปลดปล่อยอิสราเอลจากการปกครองของโรม จัดตั้งความยุติธรรมให้กับโลกนี้ ช่วยเหลือคนจน นำสันติภาพมาสู่โลก พระเจ้าน่าจะพอพระทัยมิใช่หรือ? ทำโดยไม่ต้องทนทุกข์ ทำได้สำเร็จ ทำเลย แล้วท่านจะได้ทุกสิ่ง”11

B. กำดัก แน่นอนข้อเสนอแบบนี้ย่อมต้องมีข้อแลกเปลียน แล้วอะไรคือข้อแลกเปลี่ยน? มารพูดว่า "ถ้าท่านจะกราบลงนมัสการเรา”

ท่าหมอบลงกราบนมัสการเป็นท่าทีที่แสดงออกถึงสัญลักษน์ ดูเหมือนมารพยายามทำให้เป็นเรื่องเล็กน้อยไม่สลักสำคัญ ไม่ได้บอกให้ไปทำในที่สาธารณะ ที่จริงแค่พระเยซูก้มลงนมัสการมันเป็นส่วนตัวที่บนภูเขามันก็พอใจแล้ว มีคนตั้งข้อสังเกตุว่ามารเสนอว่าทำเช่นนี้แค่ครั้งเดียวเอง12 แล้วมารก็ไม่ได้ขอให้มีพิธีรีตองอะไรด้วย รู้ว่าพระเยซูต้องการมาตั้งอาณาจักรให้กับพระเจ้า มันแทบจะไม่ได้ขออะไรมากเลย

มารอยากให้พระเยซูเชื่อว่าหลังจากนมัสการมันแล้ว ก็จบเรื่อง แต่ว่าการนมัสการมีความหมายหลายสิ่ง:

  • แสดงความจงรักภักดีต่อผู้ที่ถูกนมัสการ (หน้าที่ๆต้องแสดงถึงความซื่อสัตย์);
  • แสดงถึงความเหนือกว่าของผู้ที่ถูกนมัสการ (นมัสการจากผู้น้อยสู่ผู้ใหญ่);
  • ผู้นมัสการต้องขึ้นตรงกับผู้ถูกนมัสการ (ผู้นมัสการยอมรับว่าตนเองไม่มีค่าใดถ้าไม่มีผู้ถูกนมัสการ)

พระเยซูตระหนักว่าสัญลักษณ์ของการก้มลงกราบนมัสการจะมาพร้อมกับข้อผูกมัดต่อเนื่อง

C. มารให้ในสิ่งที่สัญญาไว้ได้จริงหรือ บางคนคิดว่ามารโกหกที่บอกว่าจะมอบราชอาณาจักรให้กับพระเยซู13 เพราะจะอย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วพระเจ้าเป็นผู้ครอบครองอยู่เหนือทุกสิ่ง และเรารู้ว่ามารเป็นจอมมุสา – พระเยซูเรียกมันว่าเป็นผู้ฆ่าคน และผู้มุสา (ยอห์น 8:44)

เพราะมารเป็นจอมมุสา ไม่ได้หมายความว่าพูดความจริงไม่เป็น จะบอกว่ามารต้องโกหกตลอดเวลาก็ตลกไปหน่อย เหมือนเป็นตัวการ์ตูน14 มันทำธุรกิจ คุณคงทำธุรกิจไม่ได้ถ้าต้องโกหกตลอดเวลา ขณะที่มารไม่จำเป็นต้องพูดความจริง แต่มันจะพูดความจริงถ้าทำให้ได้ตามที่ต้องการ ในกรณีนี้ ตามที่ลูกาบันทึก มารอ้างว่าพระเจ้าได้มอบอาณาจักรต่างๆให้มันแล้ว จึงสามารถนำไปมอบให้คนอื่นๆได้ (ลูกา 4:6) พระเยซูทรงรับฟัง ต่อมาในยอห์น 12:31 และใน ยอห์น 16:11 พระเยซูทรงเรียกมารว่า “เจ้าโลก” ผมจึงว่าตรงนี้มันพูดจริง เท่าที่เห็นก่อน ยังมีตามมาอีกซึ่งเราจะเรียนต่อไป

นอกเหนือจากนี้ ถ้าคำอ้างของมารไม่เป็นความจริง ทำไมพระเยซูไม่ตรัสบ้าง? ฟังดูเป็นคำตอบที่ง่ายๆ “ไม่เอาน่าซาตาน เจ้าก็รู้ว่าเจ้าไม่มีทางเอาราชอาณาจักรเหล่ามาให้เราได้” ที่สำคัญพระเยซูไม่ได้ตอบมารไปเช่นนั้น

III. การตอบสนองของพระเยซู

คำตอบของพระเยซูง่ายและตรงประเด็น เช่นเดียวกับที่ทรงตอบไปในการทดลองสองครั้งก่อนหน้า พระองค์ทรงอ้างจากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ "อ้ายซาตาน จงไปเสียให้พ้น เพราะพระคัมภีร์มีเขียนไว้ว่า จงกราบนมัสการพระองค์ผู้เป็นพระเจ้าของท่าน และปรนนิบัติพระองค์แต่ผู้เดียว" (มัทธิว 4:10) (เป็นส่วนหนึ่งจากเฉลยธรรมบัญญัติ 6:13)

มันง่ายที่จะเข้าถึงรายละเอียดและนัยของการทดลองครั้งที่สาม แต่เราจะพลาดไปจากหัวใจสำคัญ พระเยซูไม่พลาดครับ พระเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้นที่ควรคู่กับการนมัสการของเรา

อย่างที่คุยไปก่อนหน้า มารไม่ได้ขอให้พระเยซูมีพิธีรีตองอะไรในการก้มลงกราบนมัสการ นั่นคือความฉ้อฉลที่มันใช้กับอิสราเอลตามที่เราอ่านใน 2พงศ์กษัตริย์ 17:35-40ก):

เมื่อพระเจ้าทรงทำพันธสัญญากับอิสราเอล พระองค์บัญชาพวกเขาว่า "เจ้าอย่ายำเกรงพระอื่นๆ หรือกราบนมัสการพระนั้น หรือปรนนิบัติ หรือถวายสัตวบูชาแก่พระนั้น แต่เจ้าจงยำเกรงพระเจ้า ผู้ซึ่งนำเจ้าออกมาจากแผ่นดินอียิปต์ด้วยกำลังอันยิ่งใหญ่ และด้วยพระหัตถ์ที่เหยียดออก เจ้าจงโน้มตัวลงต่อพระองค์...ถึงกระนั้นเขาทั้งหลายก็มิได้ฟัง”… ยังทำตามอำเภอใจเหมือนเดิม แม้กระทั่งพวกเขากำลังนมัสการพระเจ้า พวกเขาก็ปรนนิบัติรูปเคารพไปพร้อมๆกัน (ผมขอเน้นเพิ่ม)

ด้วยสาเหตุนี้ อาณาจักรทางเหนือจึงถูกอัสซีเรียทำลายลงและผู้คนต้องกระจัดกระจายไปท่ามกลางชนชาติอื่นๆ

เกิดอะไรขึ้นกับแนวคิดของเราเกี่ยวกับพระเจ้าเมื่อเรานมัสการพระองค์นอกเหนือจากที่บัญชา? เพิ่มพระอื่นเข้าไป หรือนมัสการพระเจ้าในแบบรูปเคารพ ทำให้พระเจ้าในความคิดของเราเป็นมากกว่าที่ทรงเป็น – ผู้ครอบครอง เป็นหนึ่งเดียว ยิ่งใหญ่สูงสุด - และถ้าเรายังนมัสการพระเจ้าต่อในขณะที่นมัสการสิ่งอื่นๆควบคู่ไปด้วย แปลว่าเราไม่ได้นมัสการพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ เราอาจยังเรียกพระองค์ว่าเป็นพระเจ้า แต่ในความคิด เราลดพระองค์ลงเหลือแค่รูปเคารพ – หรือสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาในมโนภาพ15

พระอื่นๆไม่จำเป็นต้องมาในภาพรูปเคารพ เงินทองก็เป็นสิ่งที่เรานมัสการได้ ครอบครัว การงาน และแม้แต่ประเทศของเรา แม้อิสราเอลในยุคพระเยซูจะเลิกกราบไหว้รูปเคารพที่เป็นภาพหรือรูปปั้น แต่ก็ไม่เคยหยุดนมัสการเงินทอง พระเยซูตรัสในมัทธิว 6:24 “ท่านจะปฏิบัติพระเจ้าและจะปฏิบัติเงินทองพร้อมกันไม่ได้”

อย่างที่พระเยซูตรัส พระองค์ตระหนักว่าการนมัสการมาพร้อมกับการปฏิบัติหรือปรนนิบัติ มารไม่ได้ใช้คำว่าปฏิบัติ แต่ที่สำคัญคือพระเยซูทรงใช้ เรายำเกรงสิ่งใด หรือเราเห็นว่าสิ่งนั้นมีอำนาจมากพอให้เราในสิ่งที่ต้องการได้ เราก็จะไปปรนนิบัติสิ่งนั้น เราอาจนมัสการพระเจ้าพร้อมไปกับสิ่งอื่นๆได้สักระยะ แต่ที่สุดแล้วจะขัดแย้งกันจนไปต่อไม่ได้ เราต้องเลือกครับ

IV. สังเกตุและนำมาประยุกต์ใช้

เราเรียนรู้สิ่งใดจากการทดลองครั้งที่สาม?

A. พระเยซูทรงเป็นพระบุตรที่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า ต่างจากอิสราเอลบุตรของพระเจ้า พระเยซูเป็นบุตรที่เชื่อฟัง พระองค์ไม่ได้ขุ่นเคืองเรื่องการทดลองและพยายามหาทางหลบเลี่ยง พระองค์ไม่ได้พยายามทดสอบความรักของพระบิดาโดยใช้วิธีบีบบังคับให้แสดงออก พระองค์ไม่ได้พึ่งพิงสิ่งอื่นใดนอกจากพระเจ้าเพื่อให้พระราชกิจที่พระเจ้ามอบหมายสำเร็จลง16

นอกจากนั้น ชัยชนะต่อการทดลองที่มีเหนือซาตานแสดงให้เห็นว่าพระเยซูทรงเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติครบถ้วนเพื่อทำพระราชกิจตามที่ได้เลือกสรรไว้17 นี่คือคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของพระองค์

1. ทรงมีสิทธิสมบูรณ์ตามสายราชบัลลังก์ของดาวิด ต่างจากกษัตริย์องค์อื่นๆของอิสราเอล พระเยซูทรงมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ครบถ้วน เฉลยธรรม 17:14-20 ทรงยอมถวายพระองค์เองให้พระเจ้าและทำตามพระวจนะในการเข้าสู่ถิ่นทุรกันดาร พระองค์ทรงรู้กฏหมายของพระเจ้าเป็นอย่างดี สามารถนำมาใช้ให้มีชัยเหนือซาตาน และไม่ได้มองว่าพระองค์อยู่เหนือการทดลอง แต่ต้องทนทุกข์จนผ่านพ้น เช่นเดียวกับที่มนุษย์ต้องเผชิญ พระองค์จึงเป็นจอมกษัตริย์เหนือกษัตริย์ทั้งปวง (วิวรณ์ 17:14)

2. ทรงเป็นลูกแกะที่ปราศจากตำหนิของพระเจ้า การปราศจากตำหนิของพระเยซูสำแดงผ่านทางชัยชนะเหนือการทดลองโดยปราศจากมลทิน เหมาะสมทุกประการที่จะเป็นลูกแกะเพื่อถวายบูชาชดใช้บาป (อพยพ 12:5, อิสยาห์ 53:7, ยอห์น 1:29, 1โครินธ์ 5:7, 1เปโตร 1:18-19) ทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดที่สมบูรณ์ครบถ้วนทุกประการ

3. ทรงเป็นมหาปุโรหิตที่เห็นใจเราทุกประการ ผู้เขียนพระธรรมฮีบรูกล่าวว่า:

15 เพราะว่า เรามิได้มีมหาปุโรหิตที่ไม่สามารถจะเห็นใจในความอ่อนแอของเรา แต่ได้ทรงถูกทดลองใจเหมือนอย่างเราทุกประการ ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังปราศจากบาป 16 ฉะนั้นขอให้เราทั้งหลาย จงมีใจกล้าเข้ามาถึงพระที่นั่งแห่งพระคุณ เพื่อเราจะได้รับพระเมตตา และจะได้รับพระคุณที่จะช่วยเราในขณะที่ต้องการ (ฮีบรู 4:15-16)

พระเยซูตรัสว่า “เพราะถ้าผู้ใดจะได้สิ่งของสิ้นทั้งโลกแต่ต้องเสียชีวิตของตน ผู้นั้นจะได้ประโยชน์อะไร?” (มัทธิว 16:26) มีผู้เสนอมอบโลกทั้งใบให้พระองค์ และทรงปฏิเสธได้ พวกเราคงไม่มีใครถูกล่อลวงด้วยข้อเสนอนี้ พระองค์จึงทรงเป็นมหาปุโรหิตที่เข้าใจ เห็นใจและสงสาร

B. ซาตานเป็นจอมมุสา แม้บางครั้งมันพูดความจริง จริงๆแล้วมันกลับต่อต้านความจริง ยอห์นเจาะจงนำคำว่า “ความจริง” มาใช้ ในยอห์น 14:6 พระเยซูตรัสว่า "เราเป็นทางนั้น เป็นความจริงและเป็นชีวิต” ใน 2ยอห์น 4 “สัจจะ” ข่าวประเสริฐที่ได้มอบไว้ให้บรรดาอัครทูต มารจึงต่อต้านความจริงในเรื่องนี้ – พระเยซูและข่าวประเสริฐ – จึงทำให้มันเป็น “จอมมุสา” แม้ว่าบางครั้งก็เอาความจริงมาอ้าง แต่นำเสนอในแบบที่หลอกลวงเรา นำเราสู่ความผิดพลาด หลงไปจากความจริง

C. แรงยั่วยุในการทดลองครั้งที่สามคือพระราชกิจ การทดลองครั้งที่สามจะรวมถึงการบังคับตน ให้ตนเองมาก่อน ความหยิ่งลำพอง เกียรติยศและอำนาจ ฯลฯ แต่อาจห่อหุ้มมาในบริบทของการทำพันธกิจ อย่างที่มารทำกับพระเยซู ในบทความไม่นานมานี้จาก “ข่าวยามเช้าของดัลลัส” เจเจ แพคเกอร์เขียนว่า “ซาตานจะวางกับดักคนของพระเจ้าให้ทำชั่วโดยคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี...” 18การทดลองครั้งที่สามคือ เมื่อคนแสดงความปรารถนาจะทำตามน้ำพระทัยอาจกำลังเปิดจุดอ่อนให้มารเห็น มันหาทางปรับโฉมการล่อลวงพระเยซูโดยแตะไปที่ความปรารถนาจะตั้งอาณาจักรของพระเจ้า มันอาจปรับโฉมการล่อลวงพันธกิจในฝันของเรา อาจเปิดโอกาสให้เราได้รับใช้ในสิงที่อยากทำมานาน หรือให้เห็นว่าของประทานฝ่ายวิญญาณที่เรามีจะเกิดผลอย่างเหลือเชื่อ มารจะบอกว่าที่เราต้องทำคือยอมผ่อนปรนนิดหน่อย เราต้องคอยเฝ้าระวังอยู่เสมอ อย่าเผลอไปก้มกราบนมัสการซาตานโดยคิดว่ากำลังทำงานรับใช้พระเจ้า เอริค เกรแฮม เน้นเรื่องนี้เอาไว้:

ความจงรักภักดีฝ่ายวิญญาณไม่สามารถแยกเป็นสองฝักสองฝ่ายได้ พระเยซูทรงสอนไว้ เราไม่อาจปรนนิบัติพระเจ้าและทรัพย์สินเงินทองได้ หรือพระเจ้าและซาตาน หรือพระเจ้ากับหลักการต่างๆที่ทำให้ไม่ขึ้นกับพระเจ้า นำไปจนขัดแย้งกับพระประสงค์ บ่อยครั้งผู้มีอำนาจทางศาสนาจะพลาดในเรื่องนี้ พยายามนำอำนาจชั่วคราวฝ่ายโลกที่มี หรือทรัพย์สมบัติ หรืออำนาจทางการเมืองเข้ามาใช้ร่วมกับการปรนนิบัติพระเจ้า นำวิธีการที่ขัดกับวัฒนธรรมที่ดีของคริสเตียน บังคับใช้ มีทักษะและมีชั้นเชิง ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเยซูทรงปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง พวกเขาคิดว่าอาวุธของซาตานสามารถนำมาใช้เพื่อพระเจ้าได้ จนบางทีแยกแยะไม่ออกว่าไหนคือทางของพระเจ้า ไหนคือทางของมาร ไม่ได้พอใจแค่ปรนนิบัติพระเจ้าองค์เดียว คิดว่าวิธีที่ใช้อยู่ช้าและไม่ได้ผล – บางครั้งก็พลาดไปคิดว่านี่แหละสอดคล้องกับน้ำพระทัย และในทุกสิ่งที่ทำหรือนำมาใช้ พวกเขาเชื่อจริงจังว่ากำลังปรนนิบัติพระเจ้า

ดังนั้นการทดลองครั้งที่สาม – ทดลองให้ละจากพระเจ้าบ้าง ตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย ไม่ได้จงใจ แต่มีเหตุผลดี เมื่อเรากำลังวางแผนจัดตั้งอาณาจักรของพระเจ้า – การทดลองนี้อันตรายที่สุด เกิดขึ้นบ่อย และเป็นหนทางสู่หายนะที่ง่ายโดยฝีมือผู้ที่เรียกตนเองว่าทำเพื่อพระคริสต์ โดยเฉพาะคนที่มีตำแหน่ง มีอำนาจในคริสตจักร หรือคนที่แผ่อิทธิพลส่วนตัวเข้าไป เป็นเพราะสิ่งที่ล่อลวงมันดูดีเยี่ยม ทุกสิ่งเพื่อพระสิริของพระเจ้า และบ่อยครั้งเกิดขึ้นโดยไม่มีใครทันสังเกต เว้นแต่เราต้องเฝ้าระวัง อธิษฐาน อดอาหารเช่นเดียวกับที่พระเยซูทำในถิ่นทุรกันดาร และที่สำคัญไวต่อการทรงนำของพระวิญญาณบริสุทธิ์ 19

D. ระวังข้อเสนอที่สัญญาจะให้ในสิ่งที่พระเจ้าไม่เคยสัญญา

1. ผลเลิศ “ทำตามวิธีนี้” มีคนบอกกับผู้นำอนุชน “แล้วจำนวนสมาชิกในกลุ่มอนุชนจะเพิ่มขึ้นสามเท่า” “คุณต้องเลี้ยงลูกแบบนี้” มีคนบอกกับผู้เป็นพ่อแม่ “แล้วลูกๆของคุณจะเชื่อฟังและอยู่ในทางของพระเจ้า” “ใช้แผนหาทุนของเรา” มีคนบอกผู้นำคริสตจักร “แล้วคุณจะหาทุนสร้างอาคารได้มากจนเกินพอ”

2. ผลในทันที “พันธกิจของคุณไม่เห็นต้องใช้เวลาหลายปีเพื่อพัฒนา” นักศึกษาพระคริสตธรรมจบใหม่บอก “ทำให้มันสำเร็จเดี๋ยวนี้เลย จะรอไปทำไม”

3. เป็นที่รู้จักและมีความสำคัญ “เป็นคนที่สำคัญของพระเจ้า” มีคนบอก “เป็นผู้นำในคริสตจักร สร้างผลกระทบให้กับพระคริสต์ นี่เป็นสิ่งที่คริสเตียนที่ประสบความสำเร็จทำ”

4. ไม่ต้องทนทุกข์ “พระเจ้าต้องการอวยพระพรคุณ” มีคนบอกกับคริสเตียนมากมาย “รอคอยความสุขและความมั่งคั่ง” บางทีคำพูดที่ฮิทติดปากในแวดวงของพวกเราทุกวันนี้คือ “เติมเต็ม” “ลองเข้าในพันธกิจนี้ดู” มีคนพูด “แล้วคุณจะรู้สึกเต็มล้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน” เมื่อใดก็ตามที่มีคนนำเสนอพันธกิจที่เติมเต็มล้นในคริสตจักรของคุณหรือที่อื่นๆ ระวังให้ดี เขากำลังพยายามขายบางอย่างให้คุณ

สัปดาห์ที่แล้วเราอ่านจากหนังสือ 2ทิโมธี เป็นจดหมายฝากที่ อ.เปาโลเขียนจากเรือนจำในโรม ชีวิตท่านอาจกำลังจบลง ท่านอยู่โดดเดี่ยว มีแต่ลูกาเท่านั้น หลายคนไม่อยากเกี่ยวข้องเพราะอับอาย ท่านขอให้ทิโมธีนำเสื้อคลุมมาให้ คริสตจักรหลายแห่งที่ท่านก่อตั้งขึ้นกำลังดิ้นรน ผู้สอนเทียมเท็จมาจากทุกทิศทุกทาง โจมตีและปฏิเสธเนื้อหาของข่าวประเสริฐ

ทุกเดือนเราจะได้รับจดหมายจากมิชชันนารีของคริสตจักร Community Bible Chapel ที่เราให้การสนับสนุน ถ้าหนึ่งในจดหมายที่เราได้รับมาเหมือนกับ 2ทิโมธี ผมสงสัยว่าเราจะยังสนับสนุนมิชชันนารี่คนนั้นต่อหรือไม่

ในคำเทศนาบนภูเขา พระเยซูตรัสว่าผู้ที่ถูกข่มเหงเหตุเพราะพระองค์ย่อมเป็นสุข (มัทธิว 5:10-12) พระองค์บอกกับสาวกว่าในโลกนี้พวกเขาจะประสบความทุกข์ยาก (ยอห์น 16:33) เปาโลสอนทิโมธีให้ทนต่อความยากลำบากเหมือนทหารที่ดีของพระเยซูคริสต์ (2ทิโมธี 2:3) นี่คือสิ่งที่เราจำต้องรู้ไว้เมื่อลงมือทำงานของพระเจ้าอย่างจริงจัง ให้สำรวจโอกาสทำพันธกิจที่มาถึงแบบง่ายๆชนิดไม่มีความยากลำบากให้ดี เพราะคุณอาจตกเป็นเหยื่อการทดลองในแบบเดียวกับการทดลองครั้งที่สามของพระเยซู

E. เราไม่อาจปรนนิบัติเจ้านายพร้อมกันสองคนได้ อย่างที่พระเยซูตรัส เราจะชังคนหนึ่งและรักอีกคน (มัทธิว 6:24) คนหรือสิ่งของใดที่เป็นคู่แข่งในการนมัสการพระเจ้าของเราเรียกร้องการปรนนิบัติจากเราด้วย พระเยซูทราบว่าการคุกเข่าก้มหัวให้ซาตานและยอมรับของขวัญแห่งราชอาณาจักรของโลกหมายถึงอะไร พระเยซูไม่อาจปรนนิบัติพระเจ้าแต่เพียงผู้เดียวถ้าพระองค์ยอมรับราชอาณาจักรนั้นมาจากซาตาน ทันทีที่พระองค์ให้ความสำคัญกับมันและรับความช่วยเหลือ พระองค์ต้องรับใช้มัน อาจไม่ในทันที หรือในแบบที่เราคิด แต่วันนั้นมาถึงแน่

เดอะก๊อดฟาเธ่อ20 นวนิยายเกี่ยวกับตระกูลคอร์ลีโอนีและพรรคพวกที่ก่อตั้งแก๊งอาชญากรรม ได้รับรางวัลอาคาดามี่เมื่อสร้างเป็นภาพยนตร์ รวมถึงภาคต่อๆไปด้วย ตอนหนึ่งในหนังสือเกี่ยวข้องกับสัปเหร่อที่แอบไปขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าครอบครัว ดอน คอร์ลีโอนี สิ่งแรกที่สัปเหร่อนี้ต้องทำคือสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อหัวหน้า เมื่อยอมทำตาม ก็ได้รับความช่วยเหลือ หลังจากนั้นสัปเหร่อคนนี้ก็ไม่ได้ยินจากดอน คอร์ลีโอนีอีกเป็นปี วันหนึ่งลูกชายของดอน คอร์ลีโอนี ถูกคู่ปรับฆ่าตายระหว่างก่ออาชญากรรม ตอนกลางดึก สัปเหร่อถูกเรียก ดอนขอให้สัปเหร่อคนนี้จัดการฝังศพให้ เขาตัวแข็งด้วยความกลัว เพราะในทันทีทุกคนจะรู้ – เพื่อนบ้าน ลูกค้า ตำรวจ ศัตรู พวกก่ออาชญากรรมทั้งหลาย – ว่าเขาทำงานให้ดอน คอร์ลีโอนี เจ้าพ่อ แต่ไม่มีทางเลือก ถ้าไม่ทำ หมายถึงชีวิตเขาก็ต้องจบลง

นี่เป็นวิธีเดียวกับที่ซาตานใช้ ไม่มีข้อตกลงใดเล็กน้อยสำหรับซาตานหรือสิ่งที่มันควบคุม – โลกนี้ ระบอบของโลก สิ่งของๆโลก (1ยอห์น 2:15-16) ถ้าเราก้มหัวคุกเข่าให้กับสิ่งของๆโลกนี้ เช่นครอบครัว ประเทศของเรา หรืองานรับใช้ – สิ่งใดก็ตามที่เราให้ขึ้นมาเป็นคู่แข่งกับพระเจ้า – วันหนึ่ง ไม่ช้าก็เร็ว เราจะถูกเรียกร้องให้ไปรับใช้สิ่งนั้น อย่าหลอกตนเอง เราไม่อาจปรนนิบัติพระเจ้าไปพร้อมๆกันได้ เช่นเดียวกับสัปเหร่อ เราจะพบว่าเราได้เลือกไปแล้ว21

F. ซาตานไม่มีทางเทียบได้กับพระเจ้า ซาตานให้ได้เฉพาะสิ่งที่ได้มา มันอ้างกับพระเยซูว่ามันได้รับราชอาณาจักรต่างๆของโลกนี้ และนำมามอบให้พระเยซูได้ มาคิดดูว่ามีความหมายอย่างไร อาณาจักรของโลกนี้คือของๆโลกนี้ เมื่อปิลาตถามพระองค์ว่าเป็นกษัตริย์หรือ พระเยซูตอบว่าอาณาจักรของพระองค์ไม่ใช่เป็นของโลกนี้ แต่ในสวรรค์ (ยอห์น 18:36) และอาณาจักรของโลกนี้เป็นเพียงชั่วคราว ความยิ่งใหญ่ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป และไม่มีทางไปเทียบกับความยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรของพระเจ้า (ดูคำอธิบายถึงท้องฟ้าใหม่และโลกใหม่ในวิวรณ์ 21:1 – 22:5)

แน่นอน สำหรับเรา โลกนี้น่าดึงดูดมากๆ มันคงยากสำหรับเราที่จะคิดไกลไปจากสภาพแวดล้อมที่ดำเนินอยู่ อยู่ในกรอบกำหนดของพื้นที่และเวลา แต่สิ่งที่เราต้องคิด – ด้วยมุมมองของฟ้าสวรรค์และนิรันดร์กาล ดูสิ่งที่ผู้เขียนหนังสือฮีบรูอธิบายถึงธรรมิกชนของพระเจ้าในฮีบรู 11:13-16

คนเหล่านี้ยังคงดำเนินในความเชื่อเมื่อพวกเขาตาย ยังไม่ได้รับตามพระสัญญา พวกเขาได้เห็นและรอคอยจากที่ไกล และยอมรับว่าตนเองเป็นเพียงคนแปลกถิ่นที่ท่องเที่ยวไปในโลก … .และรอคอยบ้านเมืองที่ดีกว่านี้ – บ้านบนสวรรค์

เราควรสำแดงความเชื่อในแบบเดียวกัน ไม่ยึดโลกหรือสิ่งของๆโลกที่เป็นเพียงชั่วคราว

G. การทดลองอาจมาจากแหล่งที่เรานึกไม่ถึง ดูวิธีที่ซาตานเสนอตนเองกับพระเยซู มันยอมรับพระเยซูว่าเป็นบุตรพระเจ้า มันเชื่อว่าพระองค์ทรงทำอัศจรรย์ได้ นำพระวจนะมาอ้างเพื่อจะได้รับการยอมรับ มันมาหาพระเยซูในช่วงแห่งการทดสอบ ทำเหมือนสนับสนุนพระองค์ในเรื่องความเชื่อ (แต่ที่จริงกำลังทดสอบพระเจ้าที่มันบอกสนับสนุน) เสนอหนทางให้พระเยซูทำพันธกิจได้เต็มที่ มันดูเป็นผู้สนับสนุนเรื่องความเชื่อและให้การช่วยเหลืออย่างดี

เหมือนพี่น้องคริสเตียนที่แสนดีใช่มั้ยครับ? หรือผู้นำฝ่ายวิญญาณที่น่าไว้ใจ มันน่าเศร้าที่จะบอกว่าสองแหล่งนี้เป็นแหล่งที่การล่อลวงเป็นไปได้มากที่สุด อย่างที่ อ.เปาโลกล่าวไว้ใน 2โครินธ์ 11:13-15 ซาตานปลอมเป็นทูตแห่งความสว่างได้ ไม่ใช่ปีศาจผมยาวรุงรังถือหอกสามง่าม แต่เป็นมิตรเทียมและเป็นครูสอนเทียมเท็จ

H. ดีตอนจบไม่ได้หมายความว่าวิธีการถูกต้อง เราเคยมีเรื่องอื้อฉาวเกิดขึ้นในอเมริกาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมานานหลายปี มีการปั่นให้ดอกเบี้ยพุ่งสูง เพิ่มราคาหุ้นซึ่งดีต่อผู้ถือหุ้น แต่ทันทีที่เราคุกเข่าลงนมัสการความสำเร็จทางการเงิน ความซื่อสัตย์จะถูกมองข้าม และไม่มีวันย้อนกลับไปได้ ความต้องการของผู้เล่นหุ้นไม่เคยพอ เมื่อพบว่ามีสิ่งผิดปกติ ตลาดหุ้นก็พังครืน และคนไม่รู้อิโหน่อิเหน่มากมายที่ต้องเจ็บปวด

เมื่อคริสตจักรของเราและคริสตจักรอื่นๆเผชิญปัญหาด้านการเงิน มีแรงกดดันให้ตัดงบประมาณฝ่ายวิญญาณลง จงระวังว่าเราไม่ควรให้คุณค่าความสำเร็จในงานพันธกิจ โดยยอมฟังข้อเสนอของมารมากกว่าเชื่อฟังพระเจ้า

I. การนมัสการไม่ใช่ดูว่าเราจะได้อะไรกลับคืน การนมัสการสมัยนี้เป็นเหมือน “เผือกร้อน” สำหรับคริสตจักรในโลกตะวันตก ในหลายๆคริสตจักรเป็นเหมือน “งานเฉลิมมฉลอง” เพลงสนุกสนานและบนเวทีมีเรื่องตื่นเต้น ที่คริสตจักรของเรา คนตัดสินใจว่าจะมาช่วงนมัสการดีหรือไม่โดยยึดว่าตนเองจะได้อะไรกลับไป

มารพยายามทำให้การนมัสการเป็นเหมือนของซื้อของขาย “นมัสการเราสิ” มันบอกพระเยซู “แล้วเดี๋ยวเราจะให้อาณาจักรของโลกนี้แก่ท่าน” นี่ไม่ใช่วิธีการนมัสการนะครับ

การนมัสการพระเจ้าแต่เพียงผู้เดียวเป็นสิทธิพิเศษสูงสุดและเป็นหน้าที่สูงสุดของเรา22 เราควรนมัสการพระองค์เพราะสิ่งที่พระองค์ได้ทำเพื่อเรา อิสราเอลต้องนมัสการพระเจ้าเพราะพระองค์ทรงช่วยกู้พวกเขาออกจากการเป็นทาสในอียิปต์ (เฉลยธรรมบัญญัติ 5:6-7) เช่นกัน เราควรนมัสการพระเจ้าเพราะพระพรแห่งความรอดที่เรามีในองค์พระเยซูคริสต์ (เอเฟซัส 1:3-14)

V. บทสรุป

A. ซาตานเข้าใจเรื่องกางเขนหรือไม่? ไม่น่าครับ เพราะมันกำลังจะถูกปลด (โคโลสี 2:15) ถ้าซาตานรู้ ทำไมมันถึงลวงให้ยูดาสทรยศพระเยซู? ซาตานจะเร่งเวลาพินาศของตนเองเชียวหรือ?

แต่พระเยซูทรงเข้าใจเรื่องกางเขน ที่พิธีบัพติศมา พระเจ้าทรงประกาศรับรองจากฟ้าสวรรค์ และพระวิญญาณลงมาประทับเหนือพระองค์ ไม่เพียงแต่เป็นกษัตริย์ แต่เป็นผู้รับใช้ที่จะมาทนทุกข์รับโทษบาปแทนประชากรของพระองค์23 ดังนั้นการทดลองที่สามที่ซาตานนำเสนอพระเยซูจึงแตกต่างไปเล็กน้อยจากที่มันคิดไว้ พระเยซูจะใช้วิธีเลี่ยงกางเขนเพื่อจัดตั้งอาณาจักรของพระเจ้าหรือ? นี่คือสิ่งยั่วยวนที่แฝงมาในการทดลองพระเยซูครั้งที่สาม อาร์ จี วี แทสเกอร์ เขียนว่า:

จะหลบเลี่ยงหนทางสู่กางเขน ไม่ทำตามภารกิจของผู้รับใช้ที่ทนทุกข์ที่มนุษย์ชิงชังและปฏิเสธ ทั้งๆที่จะมาแบกรับโทษความชั่วร้ายของมนุษย์นั้น การต้านการทดลองของมารได้คือความยิ่งใหญ่และกล้าหาญของพระเยซู ที่จริงพระเยซูถูกล่อให้ติดกับดักของปีศาจด้วยวิธีไม่ชอบธรรมแต่ทำให้จบลงอย่างชอบธรรม ยังไงตอนจบพระองค์ก็ยังได้ครอบครองจักรวาลนี้อยู่ดี ไม่ว่าจะไปถึงด้วยวิธีใด24

พระเยซูทรงอยู่บนเส้นทางสู่กางเขนตลอด (มัทธิว 20:20-28) ขณะอยู่ในถิ่นทุรกันดารก่อนเริ่มทำพระราชกิจสู่สาธารณะ โดยไม่ตั้งใจ ซาตานล่อลวงให้พระองค์หาทางหลีกเลี่ยง แต่พระองค์ยังทรงดำเนินต่อจนถึงจุดหมาย ดังนั้นพระองค์จึงทรงควรค่าแก่การนมัสการของเรา

B. เราเข้าใจเรื่องกางเขนหรือไม่? พระเยซูทรงสอนเราถึงราคาที่ต้องจ่ายในการติดตามพระองค์ไป:

24 ขณะนั้นพระเยซูจึงตรัสกับเหล่าสาวกของพระองค์ว่า "ถ้าผู้ใดใคร่ตามเรามาให้ผู้นั้นเอาชนะตัวเอง และรับกางเขนของตนแบกและตามเรามา 25 เพราะว่าผู้ใดใคร่จะเอาชีวิตรอด ผู้นั้นจะเสียชีวิต แต่ผู้ใดจะเสียชีวิตเพราะเห็นแก่เรา ผู้นั้นจะได้ชีวิตรอด (มัทธิว 16:24-25)

พระเยซูไม่ได้ปล่อยให้เรางงหรือสงสัยว่าการตามพระองค์ไปจะเป็นอย่างไร? แต่ได้ให้ตัวอย่างไว้ โดนัลด์ เอ แฮกเนอร์ อธิบายไว้ในหนังสือเรื่องพระเยซูเมื่อถูกมารทดลอง:

ในมุมต่างๆตามเหตุการณ์ที่บันทึกไว้ จำเป็นมากต่อหลักศาสนศาสตร์ของพระกิตติคุณ เป้าหมายของการเชื่อฟังพระบิดาสำเร็จลงโดยที่พระเยซูไม่ทำตามอำเภอใจ หรือใช้สิทธิและอำนาจที่มี แต่ตรงข้าม พระองค์มีความถ่อมใจ ยอมรับใช้และยอมทนทุกข์ นี่คือความยิ่งใหญ่แท้จริง (20:26-28) ทำตามพระมหาบัญชาโดยเชื่อฟังน้ำพระทัยพระบิดา พระเยซูทรงทำตามอย่างครบถ้วน ถูกต้อง (เฉลยธรรมบัญญัติ 6:5) และยอมจำนน เมื่อยึดตามคำสอนในบัญญัติของพระเจ้า ทรงเปิดเผยให้เห็นพื้นฐานที่มาในคำสั่งสอนของพระองค์และในพระราชกิจ ทรงเข้าใจกฎของพระเจ้าอย่างถูกต้อง (5:17) และเป็นต้นแบบสำหรับแนวทางของคริสตจักรในยุคแรก การเป็นบุตรของคริสเตียนต้องสำแดงออกโดยการเชื่อฟังน้ำพระทัยอย่างครบถ้วน รวมถึงความยากลำบาก และการถูกทดสอบ (10:22,24) การทดสอบนี้จะไม่เหมือนกับที่พระเยซูเผชิญ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของพระลักษณะและภารกิจที่ถูกกำหนดไว้ แต่หลักการจะคล้ายกัน เรียกร้องให้คริสเตียนเป็นผู้ยอมเสียสละ การเชื่อฟังตามน้ำพระทัยของพระบิดาคือตัววัดความเป็นสาวกแท้ของพระองค์25

ไม้กางเขนเป็นสัญลักษณ์แห่งการทนทุกข์และความตาย ราคาการเป็นสาวกของพระเยซูคือต้องรับเอากางเขนและแบกตามพระองค์ไปบนเส้นทางเดียวกัน มารจะล่อลวงให้เราเหไปจากเส้นทางนั้น อย่าหลบเลี่ยงราคาที่ต้องจ่ายในการเป็นสาวก เราต้องตายต่อตนเอง และมีชีวิตเพื่อพระเยซู อย่างที่มารทำกับพระเยซู มันอาจเสนอความยิ่งใหญ่ของโลกนี้ให้เราใช้ตามใจชอบ แม้แต่ในงานรับใช้ เพียงแค่เรายอมรับ เมื่อเผชิญการทดลอง เช่นเดียวกับพระเยซูเราต้องจำไว้ “จงนมัสการพระเจ้าผู้เดียว และปรนนิบัติพระองค์ผู้เดียวเท่านั้น”


1 107. เป็นบทเรียนจากต้นฉบับบทเรียนที่ 8 ของบทเรียนต่อเนื่องพระกิตติคุณมัทธิว จัดทำโดย ฮิวจ์ เบรวินส์ 13 เมษายน 2003

2 108. นอกจากที่กล่าวไปแล้ว พระวจนะที่นำมาอ้างอิงทั้งหมดมาจาก NET Bible (The NEW ENGLISH TRANSLATION) เป็น ฉบับแปลใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่นำฉบับเก่าในภาษาอังกฤษมาเรียบเรียงใหม่ ใช้ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการพระคัมภีร์มากกว่า ยี่สิบคน รวบรวมข้อมูล ทั้งจากภาษาฮีบรูโดยตรง ภาษาอาราเมข และภาษากรีก โครงการแปลนี้เริ่มมาจากที่เราต้องการนำ พระคัมภีร์ เผยแพร่ผ่านสื่ออีเลคโทรนิค เพื่อรองรับการใช้งานทางอินเตอร์เน็ท และซีดี (compact disk) ที่ใดก็ตามในโลก ที่ต่อเข้าอินเตอร์เน็ทได้ ก็สามารถเรียกดู และพริ้นทข้อมูลไว้เพื่อใช้ศึกษาเป็นการส่วนตัวได้โดยไม่คิดมูลค่า นอกจากนี้ ผู้ใดก็ตาม ที่ต้องการนำข้อมูลเกี่ยวกับพระคัมภีร์ไปเผยแพร่ต่อโดยไม่คิดเงิน สามารถทำได้จากเว็บไซด์ : www.netbible.org.

3 109. จากการอภิปรายในประเด็นนี้ใน ซิดนี่ย์ เอช ที – อำนาจของซาตาน, บทเรียนพระคัมภีร์เรื่องปีศาจและซาตาน (Grand Rapids, Michigan: Baker Books, 1995), pp. 94-95.

4 110. อธิบายเพิ่มเติมในประเด็นนี้ ดูได้จาก บทเรียนต่อเนื่องของพระกิตติคุณมัทธิว บทเรียนที่ 5 & 6 “มารผจญพระเยซูครั้งแรก และบทเรียนที่ 7 “มารผจญพระเยซูครั้งที่สอง” ของ โรเบิร์ต แอล เดฟฟินบาว

5 111. ดักกลาส วัลลอพ “ปีที่แยงกี้เสียธง” (New York: W.W. Norton & Company, Inc., 1954)

6 112. เดี๋ยวนี้ไม่มีทีมเบสบอลวอชิงตันซีเนเตอร์แล้ว หลายคนอาจยังจำได้ ทีมนี้ย้ายไปเท็กซัส แล้วกลายไปเป็นทีมเท็กซัสเรนเจอร์ส แต่ก็ยังเอาชนะพวกแยงกี้ไม่ได้อยู่ดี

7 113. ดูบทวิเคราะห์การทดลองครั้งที่สามของพระเยซูโดยเอริค เกรแฮม “การทดลองในถิ่นทุรกันดาร” Church Quarterly Review, Vol. 162 (1961), pp. 25-27.

8 114. นำมาจากต้นฉบับเดิมจัดทำโดย เบิร์ต แอล เดฟฟินบาว “บทเรียนต่อเนื่องพระกิตติคุณมัทธิว” บทเรียนที่ 5 & 6”มารมาผจญพระเยซูครั้งแรก” pp. 4-5.

9 115. เมื่อพระเยซูไม่อยู่ในสภาพที่จะปีนภูเขาสูงได้ และในเหตุการณ์นี้คงไม่มีภูเขาลูกไหนสูงขนาดเห็นราชอาณาจักรทั้งโลกได้ บางคนบอกรายละเอียดไม่ควรตามตัวอักษร ตัวอย่างเช่น จาก โดนัลด์ เอ แฮกเนอร์ “มัทธิว” Word Biblical Commentary, Vol. 33A (Dallas, Texas: Word Books, 1993), p. 68. “มารเคยเป็นทูตสวรรค์ เราไม่แน่ใจว่ามันมีอำนาจแค่ไหนที่จะนำคนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้ และทำให้เห็นภาพที่กว้างไกล ดี เอ คาร์สัน อธิบายไว้ว่า “ยืนอยู่บนภูเขาสูง” (ข้อ 8) ไม่น่าจะเห็น “อาณาจักรของทั้งโลก” อาจมีบางอย่างเหนือธรรมชาติ นอกจากนั้น อดอาหารมาสี่สิบวัน คงไม่อาจปีนบนหนทางขรุชระขึ้นภูเขาสูงได้ จำได้ว่า อ.เปาโลบางครั้งก็ไม่แน่ใจในนิมิตที่ท่านเห็น ว่าอยู่ในกายนี้ หรือไม่ได้อยู่ (2โครินธ์ 12:2) เราต้องระวังในการตีความ แต่ไม่มีเหตุผลที่จะคิดว่าเรื่องนี้อยู่แค่ในกรอบของสัญลักษณ์... ดี เอ คาร์สัน “มัทธิว” The Expositor’s Bible Commentary, Vol. 8 (Grand Rapids, Michigan: Zondervan Publishing House, 1984), p. 111.

10 116. มาระโก 1:12

11 117. ในหนังสืออรรถาธิบาย ลูกา นอร์วัล เกลเดนฮุยส์ ตั้งข้อสังเกตุว่า “มารรู้ดีว่าพระเยซูเสด็จมาที่โลกนี้เพื่อเป็นผู้นำ และจัดตั้งราชอาณาจักรของพระเมสซิยาห์ มันจึงประกาศว่าถ้าเพียงแต่พระองค์นมัสการมัน มันจะมอบทั้งอาณาจักรและสง่าราศีของโลกนี้ให้ มันเสนอให้พระองค์ประนีประนอมกับมันเพื่อจะตั้งราชอาณาจักรของพระเมสซิยาห์ได้ มันก็จะทำได้สำเร็จตามเป้าหมายโดยไม่ต้องออกแรง และทนทุกข์มากมาย” จากนอร์วัล เกลเดนฮุยส์ The Gospel of Luke, The New International Commentary on the New Testament, (Grand Rapids, Michigan: Wm. B. Eerdmans Publishing Company, 1997), p. 160.

12 118. G. Campbell Morgan, The Crises of the Christ (Old Tappan, New Jersey: Fleming H. Revell Company, 1936), p. 191.

13 119. เอส เลวิส จอห์นสัน จูเนียร์ เขียนว่า “มีการตั้งคำถามต่อข้อเสนอของซาตาน หลายคนคิดว่ามันไม่สิทธิที่จะนำราชอาณาจักรต่างๆไปเสนอให้พระเยซู บิลลี่ เบรย์ กล่าวว่า น่าประหลาดที่มารพลาด: ‘การที่อันธพาลเจ้าเก่านำราชอาณาจักรของโลกนี้มาเสนอให้พระเยซู ทั้งๆที่มันแทบไม่ได้ครอบครองสิ่งใดจีรัง” อย่างที่เดนนี่ชี้ให้เห็น: ‘คำพูดของซาตานตามที่ลูกาบันทึกไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นจริง ถ้าไม่เป็นจริงการทดลองก็ไม่น่าเกิด (James Denny, Jesus and the Gospel, p. 189) มารมีสิทธิเหนือสรรพสิ่งทรงสร้างเมื่อมนุษย์ล้มลงที่สวนเอเดน” จากหนังสือของ เอส เลวิส จอห์นสัน จูเนียร์ “การทดลองของพระเยซู” Bibliotheca Sacra, (Dallas, Texas: Dallas Theological Seminary, October 1966), p. 349.

14 120. การพูดพาดพิงเกินไปในเรื่องซาตานนั้นสุ่มเสี่ยงเพราะเป็นเหมือนให้ความสนใจ ให้ความสำคัญ เป็นสิ่งที่ผู้สอนเทียมเท็จที่เปโตรและยูดาเตือนไว้ (2เปโตร 2:1-11, ยูดา 8-10)

15 121. “พวกฟาริสีไม่เคยนึกฝันจะหันไปหาพระเจ้าของคนต่างชาติต่างศาสนา ที่จริงปรับพระเจ้าให้เข้ากับวัฒนธรรมของตัวเองก็คือปรับพระเจ้าองค์เที่ยงแท้ให้เป็นอย่างอื่น” ริชาร์ด คียส์ “โรงงานรูปเคารพ” “ไม่มีพระเจ้าเว้นแต่พระเจ้า” โอเอส กินเนส และจอห์น ซีล บรรณาธิการ (Chicago: Moody Press, 1992) หน้า 43.

16 122. ดี เอ คาร์สัน เขียนไว้ “คู่ขนานระหว่างอิสราเอลในประวัติศาสตร์ และการอดอาหาร 40 วันและคืนของพระเยซูที่สะท้อนให้เห็นการเร่ร่อนอยู่ในทะเลทรายสี่สิบปีของอิสราเอล” (ฉธบ. 8:3); ทั้งสองใช้เวลาในถิ่นทุรกันดารเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจที่จะตามมา ... ประเด็นหลักคือ “บุตร” ทั้งสองถูกทดสอบโดยการออกแบบของพระเจ้า … ฝ่ายหนึ่งทันทีที่ออกจากอียิปต์ และอีกฝ่ายทันทีที่รับบัพติศมา เพื่อพิสูจน์ถึงการเชื่อฟังและซื่อสัตย์ต่อภารกิจที่กำหนดไว้ “บุตร” ฝ่ายหนึ่งล้มเหลว แต่ “บุตร” อีกท่านไม่มีวันล้มลง … ในแง่นี้เป็นการรับรองว่าพระเยซูคือพระบุตรเที่ยงแท้ของพระเจ้า … . . D.A. Carson, op. cit., p. 112.

17 123. S. Johnson, op. cit., pp. 351-352. ประเด็นต่างเกี่ยวกับพระเยซู หรือประเด็นในเรื่องใกล้เคียง เตรียมจาก “บทเรียนต่อเนื่องพระกิตติคุณมัทธิว” และจากต้นฉบับของการทดลองสองครั้งแรกของ โรเบิร์ต แอล เดฟฟินบาว บทเรียนที่ 5 & 6: “มารผจญพระเยซูครั้งแรก” หน้า 16-17 และบทเรียน 7: “มารผจญพระเยซูครั้งที่สอง” หน้า 1-2

18 124. เจไอ แพคเกอร์ “จะรับมือกับซาตานต้องรู้จักกับพระเจ้าก่อน” ข่าวเช้าดัลลัส 20 เมษายน 2002

19 125. E. Graham, op. cit., p. 27.

20 126. Mario Puzo, The Godfather (New York: G. Putnam’s Sons, 1969).

21 127. เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ทำให้เป็นรูปเคารพ เราควรยอมจำนนกับสิทธิอำนาจของพระเจ้าที่กำหนดไว้ให้เรารับใช้พระองค์ (เอเฟซัส 5:22-6:9)

22 128. ถอดความจากข้อเขียนของจอห์น ไพเพอร์ “จงนมัสการพระเจ้าผู้เดียวของเจ้า” (Desiring God Ministries, 1985), http://www.desiringgod.org/library/sermons/85/090885.html

23 129. R.อาร์ จี วี แทสเกอร์ “พระกิตติคุณฉบับของมัทธิว” (Grand Rapids, Michigan: Wm. B. Eerdmans Publishing Company, 1976), p. 50. ดี เอ คาร์สัน กล่าวว่า “พูดอีกแบบ พระเยซูทรงทราบดีตั้งแต่เริ่ม และตั้งแต่เริ่มพระราชกิจที่บนโลก ทรงเป็นทั้งกษัตริย์ และเป็นผู้รับใช้ที่ทนทุกข์ โดยการรับรองที่พิธีบัดติศมาซึ่งสำคัญต่อพระภารกิจของพระองค์” D.A. Carson, op. cit., p. 114.

24 130. R.อาร์ วี จี แทสเกอร์ p. 54.

25 131. โดนัลด์ เอ แฮกเนรอ์ op. cit., p. 70.

Related Topics: Christology, Temptation

Report Inappropriate Ad